ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงบรรยายพิเศษ เรื่องการเกิดโรคมะเร็งพระราชทานแก่นักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ ๓ คณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นวันแรก

วันอังคารที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๘ เวลา ๑๒.๒๙ น. ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังอาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง หรือ Oncogenesis พระราชทานแก่คณาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ ๓ คณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวม ๖๔ คน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับองค์ประกอบพื้นฐานและความซับซ้อนของโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรายวิชา จภพบ ๓๓๐๔ พัฒนาการ พันธุศาสตร์ และโรคมะเร็ง เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในประเทศไทย และมีแนวโน้มการเกิดอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอยู่ตลอด ปัจจัยหลักมาจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ความสำคัญกับการศึกษาค้นคว้า วิจัย พัฒนาด้านการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรค เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย ตั้งแต่ “กระบวนการและขั้นตอนของการเกิดมะเร็งและชีววิทยาของเซลล์มะเร็ง” ประกอบด้วยหลายขั้นตอน มีความซับซ้อนในตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น กลไกการเกิดมะเร็งจากสารเคมี โดย “ขั้นเริ่มต้น” เชื่อว่าสามารถแยกออกเป็น ๒ รูปแบบ คือ กลไกที่ทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอโดยตรง และทำให้เกิดการกลายพันธุ์ จนภายหลังกลายเป็นเซลล์มะเร็ง เช่น การเกิดมะเร็งจากสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ที่พบจากเชื้อราในเมล็ดธัญพืชชนิดต่างๆ และสาร เอ็น-ไนโตรซามีน (N-nitrosamine) ที่พบในอาหาร เช่น ปลาร้า กะปิ และเครื่องดื่มบางชนิด ส่วนกลไกที่ไม่ได้ทำลายดีเอ็นเอโดยตรงจะมีการทำปฏิกิริยาในระบบการควบคุมการแสดงออกของยีนส์ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเกิดเป็นเซลล์มะเร็ง เมื่อเข้าสู่ “ขั้นก่อตัว” เซลล์จะถูกกระตุ้นให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น และเข้าสู่ “ขั้นกระจายตัว” ทั้งนี้ เซลล์มะเร็งมีลักษณะทางชีววิทยาที่สำคัญ คือการแบ่งตัวอย่างไม่หยุดยั้ง และการเปลี่ยนแปลงในโปรตีน ซึ่งระยะแรกเซลล์มะเร็งจะอยู่รวมกันในบริเวณที่เกิดความผิดปกติ หากตรวจพบในระยะนี้ จะมีโอกาสยับยั้งและรักษาให้หายได้

ปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นโรงเรียนแพทย์ลำดับที่ ๒๓ ของไทย ได้รับการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานสากลของ World Federation for Medical Education โดยสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์และแพทยสภา จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรที่ทันสมัยทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก เพื่อมุ่งผลิตบัณฑิตแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้นำด้านสุขภาพและการบริการทางการแพทย์ ที่มีความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติต่อไป