FAQ: ปัญหาที่พบบ่อยในลูกน้อย

อาการไข้เฉียบพลัน

ไข้เฉียบพลัน คือ

🤒ไข้เฉียบพลัน คืออาการไข้ ตั้งแต่ 1 -4 วัน

อุณหภูมิเท่าไหร่จึงจะถือว่ามีไข้ในเด็ก

วัดทางทวารหนัก หรือทางหู :  38 องศาเซลเซียสขึ้นไป

วัดทางปาก : 37.8 องศาเซลเซียสขึ้นไป

วัดทางรักแร้ : 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป

ไข้เฉียบพลันในเด็ก เกิดจากอะไรได้บ้าง

สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดไข้เฉียบพลันในเด็ก มักเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ตัวอย่างสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ได้บ่อย เช่น

ไข้หวัด ( Common cold ) อาการโดยทั่วไป เช่น ไข้ ร่วมกับอาการทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ น้ำมูก อ่อนเพลีย ไม่สบายตัว เชื้อก่อโรคมักเป็นเชื้อไวรัส ที่พบได้บ่อย เช่น Rhinovirus, Parainfluenza virus Adenovirus HMP virus เป็นต้น โรคนี้ติดต่อกันทางการละอองฝอยของสารคัดหลั่ง และการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น ไอ จามใส่กัน หรือเด็กเล่นของเล่นที่เปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เป็นต้น ส่วนใหญ่ เด็กจะมีไข้ ประมาณ 2-3 วันและอาจมีอาการทางเดินหายใจส่วนต้นประมาณ 5-10 วัน การรักษาโดยทั่วไป คือ การรักษาแบบประคับประคอง เช่น ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ล้างจมูก ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไอ ยาลดน้ำมูก การดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ ส่วนใหญ่มักหายได้เอง

ไข้หวัดใหญ่ อาการโดยทั่วไป เช่น ไข้ โดยมักเป็นไข้สูง ร่วมกับอาการทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ น้ำมูก อ่อนเพลีย ไม่สบายตัว ปวดเมื่อยตามตัว มักระบาดในช่วงฤดูฝน โรคนี้ติดต่อกันทางการละอองฝอยของสารคัดหลั่ง และการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น ไอ จามใส่กัน ส่วนใหญ่มักมีอาการ ประมาณ 2-3 วันและไม่เกิน 14 วัน ข้อสำคัญของไข้หวัดใหญ่คือ ในผู้ป่วยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหืด โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีความเสี่ยงที่จำเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ได้ การรักษาโดยทั่วไป คือ การรักษาแบบประคับประคองและการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน เช่น ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ล้างจมูก ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไอ ยาลดน้ำมูก การดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ ส่วนใหญ่มักหายได้เอง อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสตามข้อบ่งชี้

ไข้เลือดออก โรคนี้ติดต่อกันผ่านทางยุงลาย อาการโดยทั่วไป เช่น ไข้ โดยมักเป็นไข้สูงลอย ประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับอาจมีอาการอย่างอื่น หรือไม่มีก็ได้ เช่น จุดเลือดออกตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว โรคนี้ อาจพบเกล็ดเลือดต่ำได้ด้วย ซึ่งถ้าเกล็ดเลือดต่ำ อาจทำให้มีอาการเลือดออกอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น ปวดท้องมาก เลือดออกตามไรฟัน มีจุด จ้ำเลือดที่บริเวณต่างๆ เป็นต้น โดยโรคนี้จะรุนแรงที่สุด เมื่อเข้าสู่ภาวะช็อค ซึ่งมักจะเกิดขึ้นช่วงไข้เริ่มลด การรักษาโดยทั่วไป คือ การรักษาแบบประคับประคองและการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ภาวะช็อค ภาวะเลือดออกที่รุนแรง เป็นต้น โดยทั่วไป แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จากประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจเลือดเพิ่มเติม

ไข้ที่เกิดจากคออักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ (Pharyngitis, Otitis media)  อาการได้แก่ ไข้ ร่วมกับ เจ็บคอ หรือเจ็บหู ในเด็กเล็ก อาจต้องใช้การตรวจร่างกายเพื่อให้การวินิจฉัย ซึ่งคออักเสบและหูอักเสบนี้ สามารถเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียก็ได้ โดยทั่วไป หากเกิดจากเชื้อไวรัส มักมีอาการอยู่ 2-3 วันและมักหายได้เอง และหากเป็นเชื้อแบคทีเรีย อาจมีไข้สูงและมีอาการได้ยาวนานกว่านี้

ไข้ ร่วมกับท้องเสีย อาเจียน เช่น การติดเชื้อโรต้าไวรัส อดีโนไวรัส หรืออาหารเป็นพิษ เด็กอาจมีไข้ต่ำ หรือไข้สูงก็ได้ ร่วมกับท้องเสีย อาเจียน โดยทั่วไป อาการมักเป็นอยู่ 1-2 วัน การรักษาโดยทั่วไป คือ การรักษาแบบประคับประคองและการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ภาวะขาดน้ำ เป็นต้น ส่วนใหญ่ เด็กมักหายได้เองภายใน 3-5 วัน อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีการถ่ายเหลว หรืออาเจียนมากจนกินไม่ได้ ซึม ปวดท้องมาก หรือไม่ปัสสาวะเลย ควรพามาพบแพทย์

ข้อแนะนำเมื่อเด็กมีไข้

✅หากเด็กมีไข้ ผู้ปกครองควรให้ยาพาราเซตามอลและเช็ดตัวลดไข้ในทันทีหรืออาบน้ำให้เด็ก เพื่อป้องกันภาวะชักจากไข้สูง
⚠️ข้อควรระวัง ไม่แนะนำให้ทานยาลดไข้สูง เช่น ibuprofen ที่บ้านเอง เนื่องจากอาจมีผลแทรกซ้อนที่รุนแรงได้หากเด็กติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือไข้เลือดออก

✅หมั่นสังเกตอาการของเด็ก เช่น หากเด็กมีอาการซึม กินน้ำหรือกินนมไม่ได้ หายใจเหนื่อย อกบุ๋ม ชักเกร็ง คลื่นไส้หรืออาเจียน หรือถ่ายเหลวมาก ไม่ปัสสาวะเลย ร่วมกับไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส ควรพามาพบแพทย์
⚠️ข้อควรระวัง กรณีทารกแรกเกิด (อายุน้อยกว่า 1 เดือน) มีไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส โดยวัดอย่างถูกต้องแล้ว ควรพามาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของไข้ เนื่องจากอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

ภาวะชักจากไข้

กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะชักจากไข้

✅เด็กอายุไม่เกิน 5 ปี ที่มีอาการไข้ อุณหภูมิร่างกายมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
✅ผู้ป่วยที่เคยมีภาวะชักจากไข้มาก่อน
✅ผู้ป่วยมีประวัติครอบครัวเป็นโรคลมชัก หรือภาวะชักจากไข้

การปฏิบัติตนเมื่อมีไข้ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะชักจากไข้

✅กินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้

เช็ดตัวตัวลดไข้ ตามแนวทางดังนี้

✅ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดบริเวณใบหน้า และวางพักไว้บริเวณซอกคอ
✅เช็ดบริเวณหน้าอก ท้องและบริเวณหลัง
✅ต่อมาเช็ดแขน ขา แล้วหยุดพักไว้บริเวณข้อพับรักแร้ และขาหนีบ
✅เน้นการเช็ดตัวจากอวัยวะส่วนปลายเข้าหาหัวใจ เพื่อให้รูขุมขนเปิด ระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ดีขึ้น
✅เมื่อเช็ดตัวเสร็จให้เด็กดื่มน้ำพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำจาการมีไข้และวัดปรอทซ้ำในอีกครึ่งชั่วโมง เพื่อประเมินภาวะไข้

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดภาวะชัก

✅จัดท่านอนตะแคง เพื่อป้องกันการสำลัก
ไม่ต้องใช้วัสดุใด ๆ งัดปาก หรือให้ยาทางปาก
✅ถอดเสื้อผ้าเด็กออกและรีบเช็ดตัวลดไข้ ตามแนวทางข้างต้น
✅รีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

อาการปวดท้อง

อาการปวดท้อง ในเด็กมีหลายสาเหตุ ตั้งแต่สาเหตุที่มีความรุนแรงน้อย ไปจนถึงสาเหตุที่มีอาการรุนแรงมาก ตัวอย่างที่พบบ่อย เช่น

🔸การติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น การติดเชื้อโรต้าไวรัส การติดเชื้ออะดีโนไวรัส หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น
🔸ท้องผูก
🔸โรคกระเพาะอักเสบ หรือกรดไหลย้อน
🔸โรคอื่นๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ
🔸โรคทางศัลยกรรม เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคลำไส้กลืนกัน ภาวะผังผืดหลังการผ่าตัด
🔸ภาวะทางสูตินรีเวช เช่น การปวดประจำเดือน การบิดขั้วของรังไข่ การติดเชื้อของมดลูกและรังไข่
🔸โรคอื่นๆ เช่น ภาวะเลือดเป็นกรดที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน

จะเห็นได้ว่า ภาวะที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย มีได้หลายสาเหตุ แล้วเราจะสามารถสังเกตได้อย่างไร ว่าบุตรหลานของเราอยู่ในภาวะเร่งด่วน ที่ต้องรีบมาพบแพทย์หรือให้การรักษาทันทีหรือไม่ และจะให้การรักษาเบื้องต้นสำหรับอาการปวดท้องในเด็กได้อย่างไร มีคำแนะนำดังนี้

เมื่อเด็กมีอาการปวดท้อง ผู้ปกครอง ควรดูอาการเหล่านี้ (ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้มักจะบอกได้แม่นยำในเด็กโตที่สามารถสื่อสารรู้เรื่องแล้ว)

✅การสังเกตอาการของเด็ก แนะนำ ให้สังเกตว่า เด็กมีอาการปวดท้องบริเวณใดเป็นพิเศษ เช่น ใต้ลิ้นปี่ กลางท้อง (ราวสะดือ), ปวดท้องด้านซ้าย / ขวา
✅ลักษณะการปวด เช่น ปวดตลอดเวลา ปวดเป็นบางเวลา ปวดหลัง/ก่อนรับประทานอาหาร  ปวดจี้ดๆ ปวดแน่นๆ ปวดเสียดๆ
✅อาการร่วม เช่น ไม่ถ่าย ไม่ผายลม ถ่ายปัสสาวะแล้วปวด มีไข้ร่วมด้วย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ- เป็นเลือด อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นต้น

คำแนะนำเบื้องต้นเมื่อเด็กมีอาการปวดท้อง

✅หากเด็กปวดท้องไม่รุนแรง โดยทั่วไปจะสังเกตอาการคือ ไม่มีอาการร่วมอื่นๆ เช่น ไข้ ท้องเสีย ถ่ายเหลว อาเจียน เบื่ออาหาร และขณะปวด สามารถกินได้เล่นได้ตามปกติ อาจสามารถสังเกตอาการดูความสัมพันธ์ของการเกิดอาการได้ เช่น ท้องผูก ทานอาหารไม่ตรงเวลา เป็นต้น และหากสังเกตอาการแล้วเด็กยังคงมีอาการปวดท้องอย่างต่อเนื่องแนะนำให้มาพบแพทย์

✅หากเด็กปวดท้องอย่างรุนแรง ได้แก่ ปวดจนต้องหยุดทำกิจกรรม ขณะมีอาการ ปวดท้องร่วมกับอาการตามระบบอื่นๆ เช่น ไข้ ท้องเสียถ่ายเหลวอย่างรุนแรง  ไม่สามารถทานอาหารหรือนมได้  แนะนำให้มาพบแพทย์

✅อาการที่สงสัยภาวะทางศัลยกรรม เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ได้แก่ เด็กปวดท้องย้ายที่เช่น เดิมปวดที่ราวสะดือและย้ายไปที่ด้านขวาล่าง หรือปวดด้านขวาล่างตลอด มีไข้ เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว อาเจียน แนะนำให้มา โรงพยาบาล

⚠️ อาการที่ควรมาพบแพทย์ ได้แก่

🔹มีไข้สูงร่วมด้วย
🔹ปวดท้องเรื้อรัง
🔹ปวดท้องรุนแรง ปวดท้องเกร็ง
🔹อาการไม่ดีขึ้น หลังใช้ยาลดกรด /ยาขับลม
🔹อาการอื่นร่วม เช่น ปัสสาวะแสบขัด ข้อบวม มีผื่น
🔹อาเจียนมาก ถ่ายเหลวมาก หรืออาเจียนถ่ายเป็นมูกเลือด

หากเด็กมีไข้ สามารถทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอลได้

⚠️ข้อควรระวัง ไม่แนะนำให้ยาแก้ปวด เช่น ibuprofen ขณะที่เด็กมีอาการปวดท้อง เนื่องจาก อาจทำให้มีอาการปวดท้องมากขึ้นและอาจบดบังอาการปวดท้องที่รุนแรงได้

✅สำหรับเด็กที่มีอาการท้องเสีย อาเจียนเฉียบพลัน ที่อาการเป็นไม่มาก ปวดท้องไม่มาก และยังรับประทานอาหารหรือน้ำได้ แนะนำให้รับประทานน้ำเกลือแร่ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

อาการท้องเสียและอาเจียน

อาการท้องเสียและอาเจียนในเด็ก แบบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น การติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ อาหารเป็นพิษ เป็นต้น อาการของเด็ก สามารถมีได้ตั้งแต่ ท้องเสียเล็กน้อย อาเจียนเล็กน้อย และอาจมีอาการร่วมอื่นๆได้ เช่น มีไข้ หรือ ปวดท้อง โดยทั่วไป อาการท้องเสียถ่ายเหลว จากการติดเชื้อเล็ก ๆ น้อย ๆ มักหายได้เองภายใน 2-3 วัน

การสังเกตอาการของเด็ก

✅ภาวะเร่งด่วนที่ควรพาเด็กมาโรงพยาบาล หากเด็กมีอาการถ่ายเหลว ได้แก่ เด็กมีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง (ได้แก่ เด็กมีไข้สูง เด็กที่ถ่ายเหลวหรืออาเจียนปริมาณมาก ๆ หลาย ๆครั้ง เด็กถ่ายเป็นเลือดปริมาณมาก เด็กที่กินอาหารหรือนมไม่ได้เลย เด็กไม่ปัสสาวะหรือปัสสาวะน้อยสีเข้มจัด เด็กซึม ตาโหล ชีพจนเต้นเร็ว เยือบุและริมฝีผากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา) หากมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้พาเด็กมา โรงพยาบาล

✅หากมีอาการเล็กน้อย เช่น เด็กกินได้ตามปกติ ท้องร่วงไม่มาก ไข้ต่ำหรือไม่มีไข้ สามารถให้การพยาบาลเบื้องต้นที่บ้านได้ ได้แก่ การเช็ดตัวลดไข้ การทานยาพาราเซตามอล และที่สำคัญคือ การให้สารน้ำทางปากทดแทน (ORS) ร่วมกับสังเกตอาการตามภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบพามารพ หากเกิน 3 วัน เด็กถ่ายเหลวไม่ลดลงหรือถ่ายเป็นเลือด หรืออาการใดๆแย่ลง แนะนำให้พามาโรงพยาบาล

คำแนะนำในการรับประทานน้ำเกลือแร่ (ORS)

การให้น้ำเกลือแร่ มีความสำคัญมากในการรักษาเด็กที่มีภาวะอาเจียน และท้องเสีย เนื่องจากเป็นการชดเชยน้ำที่เสียไป ทำให้เด็กไม่เกิดภาวะขาดน้ำ และอาจทำให้อาการถ่ายเหลว ดีขึ้นได้รวดเร็วขึ้น

วิธีการผสมน้ำเกลือแร่ : ผสมน้ำเกลือแร่ 1 ซอง ต่อน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 แก้ว หรือ 1 ขวดนม ขนาด8 ออนซ์

การป้อนน้ำเกลือแร่ : สำหรับเด็กโตที่ดื่มน้ำเองได้ แนะนำให้ค่อยๆจิบน้ำเกลือแร่จากแก้ว อาจจิบแทนน้ำดื่มได้ตลอดทั้งวัน เพื่อป้องกันการอาเจียนจากการดื่มทีละมากๆ ส่วนเด็กเล็ก แนะนำให้ใช้ช้อนหรือไซริงค์ค่อยๆป้อน ดีกว่าการใส่ขวดนม เพื่อป้องกันการอาเจียนและปฏิเสธการกิน ** การค่อยๆจิบทีละน้อยๆ จะทำให้เกลือแร่ดูดซึมดีขึ้นอีกด้วย

ปริมาณที่แนะนำ:

✅เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ให้ค่อยๆจิบ หรือป้อน ORS เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ให้ค่อย ๆ จิบ หรือป้อน ORS ครั้งละ 2 – 3 ออนซ์ (1/4 – ครึ่งแก้ว) ทุกครั้งที่ถ่ายเป็นน้ำ
✅เด็กที่มีอายุ 2 – 10 ปี ให้ค่อย ๆ จิบ หรือป้อน ORS ครั้งละ ครึ่ง – 1 แก้ว
✅เด็กที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป ให้ค่อย ๆ จิบ ORS ในปริมาณมากเท่าที่ดื่มได้

อาหารที่แนะนำขณะที่เด็กมีอาการท้องเสียและอาเจียน

✅เด็กเล็กที่เลี้ยงด้วยนมมารดา ให้นมมารดาต่อไป และควรให้เด็กดูดนมบ่อยขึ้นกว่าปกติ
✅เด็กเล็กที่เลี้ยงด้วยนมผสม ให้นมตามปกติ
✅เด็กโตให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น น้ำซุป น้ำแกงจืด โจ๊ก

ท้องผูกในเด็ก

ปัญหาท้องผูกในเด็ก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กช่วงหัดเลิกผ้าอ้อมและการปรับอาหาร ปัญหาท้องผูก เป็นปัญหาไม่ใหญ่ แต่สร้างความลำบากใจให้กับหลายครอบครัว

ท้องผูกหรืออุจจาระแข็งมีอาการอย่างไรบ้าง

✅ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์
✅อุจจาระมีลักษณะแข็ง ก้อนใหญ่ ถ่ายยาก
✅ปวดท้อง เป็นช่วง ๆเวลา ลำไส้บีบตัว
✅เจ็บทวารหนัก 
✅พบอุจจาระ เป็นคราบติดๆกางเกงชั้นใน เด็ก ซึ่งเป็นอาการที่บอกว่าอุจจาระถูกอั้นกลับเข้าไป
✅อุจจาระมีเลือดปน ติดที่ด้านนอกของลำอุจจาระ 

พฤติกรรมแปลก ๆ ที่อาจเกิดจากท้องผูก

✅พอเด็กมีความกลัว ว่าจะเจ็บก้นตอนถ่ายอุจาระ เด็กก็จะยิ่งพยายามกลั้น เพราะฉะนั้นน้องบางคนจะมีท่าทางยืนไขว้ขา ตัวบิด ๆ เกร็งก้น หรือ แสดงสีหน้ากลั้นอึ   

สาเหตุอาการท้องผูกในเด็ก

กลั้นอุจจาระ : อาจเกิดจากความกลัวห้องน้ำ เด็กบางคนไม่ชอบใช้ห้องน้ำสาธารณะ หรือ ห้องน้ำที่Fโรงเรียน บางคนเล่นติดพัน, บางคนกลั้นหนักขึ้นไปอีกเพราะ พอเริ่มท้องผูกอุจจาระจะก้อนใหญ่ทำให้ป่วยก้นเวลาถ่าย เจ็บทวารหนักที่มีแผลฉีกจากการบาดเจ็บตอนอึรอบก่อน ก็วนเวียนเป็นวงจรค่ะ 

การฝึกนั่งกระโถน : เมื่อเด็กยังไม่พร้อม มีการต่อต้าน ก็อาจเป็นสาเหตุให้เด็กกลั้นอุจจาระได้ค่ะ โดยส่วนใหญ่เราจะให้เด็กเริ่มฝึกหลังสองขวบไปแล้ว 

อาหาร : อาหารที่กากใยน้อย หรือดื่มน้ำไม่พอ

การเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวัน : เช่น เดินทาง มีภาวะเครียด ก็ส่งผลถึงการขับถ่ายได้ค่ะ เด็กหลายๆคนเริ่มมีอาการท้องผูกหลังจากเริ่มไปโรงเรียนค่ะ 

ยา : เช่น ยารักษาภาวะซึมเศร้า

โรคประจำตัว : หรือ การแพ้อาหารบางอย่างนะคะ

การป้องกันอาการท้องผูกในเด็ก

✅ทานอาหารที่มีกากใยให้พอ:  เท่าไหร่ถึงพอ ในเด็กเล็ก ทานไฟเบอร์ 20 กรัม/วัน, เด็กโตและวัยรุ่น 30-40 กรัม ต่อวัน

🔸ข้าวขาว 1 ถ้วย ให้ fiber 1 กรัม
🔸กล้วย 1 ผล ให้ fiber 3 กรัม
🔸apple 1 ลูก ให้ fiber 4 กรัม เป็นต้น

✅ดื่มน้ำให้พอ 
✅กระตุ้น/ส่งเสริม ให้เด็กได้ออกกำลังกาย การขยับร่างกาย ช่วยให้ลำไส้ขยับตัวได้ดีขึ้น 
✅ฝึกนั่งกระโถนเป็นเวลา โดยการนั่งกระโถนควรให้เท้าเด็กแตะพื้นหรือ มีที่วางเท้า เพื่อให้นั่งได้มั่นคง 
✅ให้รางวัลเชิงบวก เช่น ชมเชย, start chart 

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

✅ถ้า มีอาการมากกว่า 2 สัปดาห์ หรือ  มีอาการเหล่านี้ ร่วมด้วย ได้แก่ ไข้, ทานได้น้อย อุจจาระมีเลือดปน ท้องอืด น้ำหนักลด ปวดท้อง ควรไปพบแพทย์

อาการปวดศีรษะในเด็ก

อาการปวดศีรษะในเด็ก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรง โดยสามารถแบ่งสาเหตุได้ดังนี้

อาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ (Primary Headache)

✅เช่น ไมเกรน (Migraine) เป็นอาการปวดหัวตุบ ๆ ข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ โดยส่วนมากมักเป็นบริเวณขมับ ปวดนานเป็นชั่วโมง อาการเป็น ๆ หาย ๆ และยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก เช่น ปวดหัวจากความเครียด (Tension Headache) ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache) เป็นต้น

อาการปวดศีรษะจากส่วนอื่นๆ บริเวณใบหน้า

✅เช่น ไซนัสอักเสบ ฟันผุ เป็นต้น   

อาการปวดศีรษะแบบทุติยภูมิ (Secondary Headache)

✅เกิดจากความผิดปกติในสมองเอง สาเหตุของการปวดหัวแบบนี้ เช่น เลือดออกในสมอง เส้นเลือดดำอุดตัน มีก้อนเนื้องอก ฝีในสมอง เป็นต้น

อาการสำคัญที่ผู้ปกครองไม่ควรเพิกเฉย

✅อาการปวดศีรษะครั้งแรกที่ดูรุนแรงมากจนเด็กนอนร้องไห้
✅อาการปวดศีรษะเป็นมากตอนตื่น ตอนเบ่ง หรือตอนไอ
✅อาเจียนพุ่ง
✅ปวดศีรษะจนต้องตื่นมากลางดึก
✅มีอาการปวดศีรษะร่วมกับมีอาการอื่นๆ เช่น ซึม ชัก ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน ตาเข อ่อนแรง เคลื่อนไหวผิดปกติ
✅หากเด็กมีอาการปวดศีรษะในลักษณะเบื้องต้น หรือมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ควรรีบมาพบแพทย์

การบาดเจ็บที่ศีรษะ

การบาดเจ็บที่ศีรษะ คือ ผู้ป่วยที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่าดังต่อไปนี้

✅ มีประวัติว่า ศีรษะถูกกระทบกระแทก
✅ ตรวจพบบาดแผลที่หนังศีรษะ หรือ หน้าผาก
✅ มีการเปลี่ยนแปลงของความรู้ตัว ที่เกี่ยวเนื่องจากการบาดเจ็บ

การประเมินความรุนแรงแบ่งตาม Glasgow Coma Scale
ระดับความรุนแรงGSC score
ไม่รุนแรง/รุนแรงน้อย 13-15
รุนแรงปานกลาง9-12
รุนแรงมาก<9
Pediatric Glasgow Coma Scale
หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบมาพบแพทย์

หากมีการบาดเจ็บที่ศีรษะ ไม่ว่าจะเป็นจากอุบัติเหตุ หรือตกจากที่สูง ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะใน 24 ชั่วโมงแรก

✅ซึมลงกว่าเดิม ปลุกไม่ตื่น หรือ หมดสติ
✅กระสับกระส่าย การพูดหรือพฤติกรรมผิดปกติ
✅ชักกระตุก
✅แขนขาอ่อนแรงลง
✅มีไข้
✅มีอาเจียนบ่อย
✅อาการปวดศีรษะที่รับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ทุเลา
✅มีน้ำใสหรือน้ำใสปนเลือด ออกจากหู จมูก หรือลงคอ
✅ปวดต้นคอ ก้มคอ ลำบาก
✅เวียนศีรษะ ตาพร่า หรือเห็นภาพซ้อน
✅ตกจากที่สูงมากกว่า 0.9 เมตร

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด

ภาวะตัวเหลืองคืออะไร

ภาวะตัวเหลือง เป็นภาวะปกติที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด เนื่องจากร่างกายทารกสร้างสารสีเหลืองมากว่าปกติและการกำจัดสารเหลืองของทารกยังไม่สมบูรณ์เท่าผู้ใหญ่ โดยพบมากในทารกหลังคลอดได้ 50-80% อาการตัวเหลืองมักเป็นในวันที่ 2-3 และส่วนใหญ่จะหายได้เองไม่เกิน 3 สัปดาห์หลังคลอด

สาเหตุของภาวะตัวเหลือง

✅ประกอบด้วย 2 สาเหตุหลัก คือ
ตัวเหลืองปกติ และ ตัวเหลืองผิดปกติ เนื่องจากมีพยาธิสภาพ เช่น หมู่เลือดแม่ลูกไม่เข้ากัน ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยภาวะตัวเหลือง

✅แพทย์ผู้ดูแลเมื่อตรวจพบว่าเด็กตัวเหลืองจะส่งตรวจค่าสารเหลืองทางผิวหนังหรือทางเลือดและให้คำแนะนำในการรักษาถัดไป ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตภาวะตัวเหลืองของลูกได้โดยจะเห็นความเหลืองได้ที่ผิวหนังและเยื่อบุตาขาว ซึ่งจะเริ่มเห็นที่ใบหน้าก่อน แต่ถ้าเหลืองมากขึ้นจะเหลืองลามมาที่ลำตัว แขนและขาตามลำดับ  ถ้าระดับสารเหลืองมากกว่าปกติอาจทำอันตรายต่อสมองของทารกได้ ทารกมักมีอาการซึม ดูดนมได้น้อยลง ร้องเสียงแหลม เกร็ง ตัวอ่อน และถ้าเหลืองรุนแรงมากอาจมีอาการชักเกร็งและเสียชีวิตได้

การรักษาภาวะตัวเหลือง

✅คุณพ่อคุณแม่ควรให้ทารกทานนมบ่อย ๆ  เพื่อเร่งให้ทารกขับถ่ายสารเหลืองออกมากับอุจจาระ โดยเน้นให้ทารกได้รับนมแม่ ไม่ควรให้ทารกดื่มน้ำเปล่าหรือพาไปตากแดด เพราะไม่ทำให้ภาวะตัวเหลืองดีขึ้น ดังนั้นหลังคลอดคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตลูกน้อย หากลูกมีอาการตัวเหลืองผิดปกติ มีอาการเหลืองขึ้นเร็ว หรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วม เช่น ซึม ดูดนมน้อย ร้องกวน เป็นต้น ควรรีบพาลูกน้อยกลับไปปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับการตรวจรักษาที่เหมาะสม เช่น การรักษาโดยการส่องไฟ ยกเว้น กรณีที่ระดับสารเหลืองสูงมากจึงจำเป็นต้องรักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายเลือด

สะดืออักเสบและการทำความสะอาดสะดือ

ขั้นตอนการดูแลและทำความสะอาดสะดือ

✅โดยปกติสะดือของทารกจะค่อย ๆ แห้งและหลุดไปภายใน 1-2 สัปดาห์ การดูแลระหว่างนี้ เน้นการทำความสะอาดสะดือให้สะอาดและแห้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

✅ผู้ปกครองสามารถอาบน้ำให้ลูกได้ตามปกติ โดยหลังอาบน้ำเสร็จ ควรเช็ดตัวให้แห้ง จากนั้นทำความสะอาดบริเวณสะดือโดยใช้สำลีก้อนชุบด้วย70 %แอลกอฮอล์ เช็ดบริเวณซอกโคนสะดือ จากขั้วสะดือถึงปลายสะดือ และบริเวณผิวหนังรอบโคนสะดือ โดยหมุนไปทางเดียวกัน ไม่ควรเช็ดย้อนไปมา

✅หลังจากที่สะดือหลุด จะพบว่ามีน้ำเหลืองหรือเลือดซึมปริมาณเล็กน้อยได้ ซึงเป็นภาวะปกติ ผู้ปกครองควรเช็ดด้วย70 % แอลกฮอล์ต่อไปเจนกว่าสะดือของทารกจะแห้ง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5-10 วัน

✅ผู้ปกครองคอยสังเกตอาการของการติดเชื้อของสะดือได้เอง โดยสังเกตได้จากบริเวณรอบ ๆสะดือจะมีลักษณะบวมแดง สะดือมีกลิ่นเหม็น หรือมีหนองซึม ควรรีบพามาพบแพทย์

ท่อน้ำตาอุดตัน

สาเหตุของท่อน้ำตาอุดตัน

✅ทารกแรกเกิด ที่มาด้วยน้ำตาเอ่อ หรือน้ำตาคลอตลอดเวลาหรืออาจมีอาการอักเสบ หรือมีขี้ตาเป็น ๆ หาย ๆ อาจเป็นสัญญาณลูกน้อยของคุณ มีภาวะท่อน้ำตาอุดตัน ซึ่งมีวิธีจัดการได้ง่าย และทำได้ด้วยตนเองเบื้องต้น

ภาวะท่อน้ำตาอุดตัน เกิดจากความผิดปกติทางกายวิภาคทางเดินน้ำตาคือมีแผ่นเนื้อเยื่อบาง ๆ ปิดอยู่ที่ทางออกท่อน้ำตาใกล้โพรงจมูกโดยส่วนใหญ่แล้ว 90% เนื้อเยื่อนี้เปิดออกได้เองในอายุ 1 ปีแรก

การนวดเปิดท่อน้ำตาด้วยตนเอง

✅ นิ้วมือผู้ปกครองต้องตัดเล็บให้สั้น และทำความสะอาดก่อนนวด
✅ ใช้นิ้วชี้มากดที่หัวตาแนบเข้าไประหว่างหัวตากับสันจมูก ผู้ปกครองจะรู้สึกถึงเอ็นแข็งๆ ใต้นิ้ว
✅ วนนิ้วลงน้ำหนักพอสมควร ไม่แรงไป เป็นวงกลมแล้วลากลงตามสันข้างจมูก
✅ ทำวันละหลายๆ ครั้ง (เช่น วันละ 4 รอบ รอบละ 10-20 ครั้ง)
✅ ควรนวดช่วงให้นมลูก เพราะลูกจะดิ้นน้อยสุด

อาการที่ควรพบกุมารแพทย์ หรือจักษุแพทย์

✅เยื่อบุตาอักเสบ
✅ฝีบริเวณเปลือกตา
✅กรณีนวดเต็มที่แต่ยังไม่หาย มีอาการน้ำตาไหลอยู่

ผื่นลมพิษ

ประเภทของผื่นลมพิษ

✅ผื่นลมพิษ มีลักษณะเป็นผื่นแดง นูน คัน อาจจะหาย หรือย้ายที่ โดยไม่ทิ้งรอยเดิมไว้ ภายใน 24 ชั่วโมง บางคนอาจมีปากบวมหรือตาบวมร่วมด้วยได้

✅ผื่นลมพิษ จำแนกเป็น 2 ประเภท ตามระยะเวลาที่เกิด ได้แก่
🔸ผื่นลมพิษแบบเฉียบพลัน คือ ผื่นที่เกิดขึ้น และอาจเป็นๆหายๆ ภายในระยะเวลาน้อยกว่า 6 สัปดาห์
🔸ผื่นลมพิษแบบเรือรัง คือ ผื่นที่เกิดขึ้น และอาจเป็นๆหายๆ ภายในระยะเวลามากกว่า 6 สัปดาห์

⚠️การจำแนกผื่นลมพิษมีความสำคัญ เนื่องจากสาเหตุการเกิด จะแตกต่างกัน

ผื่นลมพิษเฉียบพลัน

อาจเกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง เช่น การติดเชื้อ (เช่น เด็กอาจมีการติดเชื้อไวรัส และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก) , การแพ้ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา เป็นต้น หรืออาจเป็นอาการนำของการแพ้อย่างรุนแรง (anaphylaxis)

⚠️ หากเด็กมีผื่นลมพิษขึ้นทันที ให้ผู้ปกครองสังเกตอาการร่วม ดังต่อไปนี้ ที่จะต้องรีบมาพบแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นอาการของการแพ้รุนแรงที่อาจถึงแก่ชีวิตได้ เพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
⚠️ อาการ ลมพิษ
🔸แน่นหน้าอกเฉียบพลัน หายใจเหนื่อยเฉียบพลัน ไอ เสียงแหบ
🔸ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียนในทันที
🔸หน้ามืด หมดสติ เป็นลม วูบ


หากมีผื่นลมพิษขึ้นอย่างเดียว อาจสังเกตอาการที่บ้านได้ โดยให้การรักษาแบบประคับประคอง โดยในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป อาจให้ยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน เช่น cetirizine หรือ desloratadine วันละ 1 ครั้ง โดยขนาดยาที่แนะนำให้ใช้ คือ

Cetirizine
🔸อายุ 2-5 ปี ใช้ขนาด 2.5-5 mg (2.5-5ml) รับประทานวันละ 1 ครั้ง
🔸อายุ 6-11 ปี ใช้ขนาด 5 mg (5ml หรือ ครึ่งเม็ด) รับประทานวันละ 1 ครั้ง
🔸อายุ มากกว่า 12 ปี ใช้ 10 mg ( 10 ml หรือ 1 เม็ด) วันละ 1 ครั้ง

Desloratadine

🔸อายุ 2-5 ปี 1.25 มิลลิกรัม รับประทาน วันละ 1 ครั้ง
🔸อายุ 6-11 ปี 2.5 มิลลิกรัม รับประทาน วันละ 1 ครั้ง
🔸อายุ 12 ปีขึ้นไป 5 มิลลิกรัม รับประทาน วันละ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ อาจใช้ยาทาผื่น เช่น calamine lotion เพื่อลดอาการคัน หากใช้ยาต่อเนื่องนานเกิน 1 สัปดาห์และอาการผื่นลมพิษไม่ลดลง หรือยังรบกวนชีวิตประจำวัน แนะนำให้มาพบแพทย์

⚠️หากสงสัยว่าเด็กน่าจะแพ้ยาหรือแพ้อาหาร และอาการไม่รุนแรง เช่นมีผื่นลมพิษเพียงอย่างเดียว ไม่มีอาการอย่างอื่น ให้งดให้ยา หรืออาหารที่สงสัยทันที สังเกตอาการแพ้อย่างรุนแรงดังข้างต้น หากมีอาการแพ้รุนแรง ให้รีบมาพบแพทย์ หากไม่มีอาการรุนแรง สามารถนัดพบกุมารแพทย์โรคภูมิแพ้เพื่อหาสาเหตุได้ ภายในเวลา 2 สัปดาห์

ผื่นลมพิษเรื้อรัง

✅ส่วนใหญ่มักไม่มีสาเหตุ และมักมีสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดได้ เช่น เกิดในระหว่างการออกกำลังกาย อากาศร้อนจัด เหงื่อแตก อากาศเย็น เป็นต้น  หากมีผื่นลมพิษข้นอย่างต่อเนื่อง และรบกวนชีวิตประจำวัน เช่น ผื่นขึ้นทุกวัน ผื่นขึ้นทุกครั้งที่ออกกำลังกาย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ atopic dermatitis เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม มักพบในเด็กเล็กมากกว่าผู้ใหญ่ร้อยละ 50 โดยมักมีอาการในขวบปีแรกร้อยละ 85 และอีกร้อยละ 20 มีอาการเรื้อรังต่อจนถึงเป็นผู้ใหญ่

อาการบ่งบอกว่ากำลังเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง

✅มีผื่นแดง มีอาการคัน
✅ผื่นขึ้นตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ตามช่วงอายุ เช่น ผื่นมักเกิดที่บริเวณแก้ม หน้าผาก คอ แขนและขาด้านนอก ข้อมือ ข้อเท้าในทารก และผื่นมักเกิดตามข้อพับในเด็กโตและผู้ใหญ่

✅ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ
✅มีประวัติคนในครอบครัวสายตรงเป็นภูมิแพ้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้มากขึ้น เช่น
🔸จมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis)
🔸 ภูมิแพ้ผิวหนัง
🔸 หอบหืด

การดูแลผิว

✅อาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ ไม่เกิน 5-15 นาที วันละ 1-2 ครั้ง
✅ทาครีมหรือโลชั่นทุกครั้งหลังอาบน้ำ
✅หลีกเหลี่ยงสารก่อความระคายเคืองแก่ผิว เช่น เหงื่อ น้ำลาย สารเคมี น้ำหอม แอลกอฮอล์ ทราย หญ้า เสื้อผ้าที่หนาไม่ระบายอากาศ เสื้อผ้าเนื้อหยาบ เสื้อผ้าขนสัตว์ เป็นต้น

การรักษาเมื่อผื่นกำเริบ

✅ยาทาต้านการอักเสบ เป็นตัวหลักในการรักษาผื่นกำเริบ ได้แก่
🔸 ยากลุ่ม steroid
🔸 ยากลุ่มที่ไม่ใช่ steroid
✅ ยาฆ่าเชื้อชนิดทา ใช้เมื่อมีการติดเชื้อทางผิวหนังร่วมไปกับผื่นผิวหนังอักเสบ
✅ ยาแก้คันชนิดรับประทาน เพื่อลดการเกาที่อาจจะทำให้เกิดแผลและมีการติดเชื้อทางผิวหนังตามมาได้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผื่นผิวหนังอักเสบ ไม่ได้มีแค่จากภูมิแพ้เท่านั้น จึงควรมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อเนื่อง

อาการโคลิค (Infantile Colic)

อาการร้องโคลิค พบได้ตั้งแต่แรกเกิด พบบ่อยช่วงอายุ 2 เดือนแรก ไม่เกินอายุ 5 เดือน และหายได้เอง

อาการ

✅ร้องเสียงดัง เสียงสูง หน้าท้องเกร็ง
✅ร้องไม่หยุดนานเป็นชั่วโมง ปลอบให้หยุดยาก มักเป็นช่วงเย็น ช่วงค่ำ
✅ช่วงไม่ร้องก็จะปกติ กินนมดี สบายตัว เล่นได้

สาเหตุ

✅ทางการแพทย์ไม่สามารถระบุได้ชัด ยิ่งลูกร้องมากพ่อแม่ก็จะกังวลใจเป็นอย่างมาก

การดูแลอาการโคลิค

✅แนะนำให้ลองเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมหรือกิจกรรม  เช่น อุ้มออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ปลอบ ลูบหลัง เปิดเพลงช้า ๆ เบา ๆ ให้ลูกฟัง หาจุกนมให้ดูด พาลูกออกไปนั่งรถเล่น อาจจะช่วยให้เด็กหยุดร้องโคลิคได้
✅ให้ลองทำไปทีละอย่าง และสังเกตว่าทำแบบไหนลูกจะร้องน้อยลง
ผู้ปกครองควรสงบ ไม่ใช้อารมณ์ ห้ามเขย่าให้เด็กหยุดร้อง เพราะอาจทำให้เด็กมีเลือดออกในสมองได้

ถ้าพ่อแม่รู้สึกเครียด อาจให้ญาติมาช่วยรับมือ และปลอบลูกแทน

การรักษา

ปัจจุบันพบว่าไม่มียาใดที่มีประโยชน์ในการรักษาภาวะนี้ชัดเจน ยกเว้นว่าอาการร้องจากลูกมีลมในกระเพาะอาหารมาก ท้องอืด ยาขับลมอาจช่วยได้บ้าง

⚠️ทั้งนี้หากผู้ปกครองไม่แน่ใจ แนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์เพื่อหาการวินิจฉัย และรักษาที่ถูกต้องได้ค่ะ

⚠️สิ่งสำคัญที่สุดนั้น คือ การแยกว่าการร้องนั้น ร้องงอแงธรรมดา หรือจากเจ็บป่วย หรือร้องโคลิค

ทั้งนี้ อาการร้องโคลิคไม่ได้ส่งผลอันตรายกับเด็ก สามารถหายได้เอง

ร้องแบบไหนควรมาปรึกษากุมารแพทย์

✅หากลูกร้องทั้งวัน ไม่ได้เป็นแค่บางช่วงเวลา ร่วมกับมีอาการต่างๆ เช่น ไข้ อาเจียน ท้องเสีย ไม่กินนม น้ำหนักไม่ขึ้น เป็นต้น
✅หากผู้ปกครองไม่แน่ใจ สามารถนัดเข้ามารับการตรวจประเมินเพื่อค้นหาสาเหตุ และรักษาได้ค่ะ

การดูแลเด็กหลังได้วัคซีน

✅ หลังฉีดวัคซีน ควรพักรอในโรงพยาบาลอย่างน้อย 30 นาที เพื่อสังเกตอาการแพ้หรืออาการข้างเคียง
✅บริเวณทีฉีดวัคซีน อาจมีอาการปวด บวม แดง ร้อน ได้ประมาณ 3-5 วัน ให้ยาแก้ปวดลดไข้ และปฏิบัติตามคําแนะนําของแพทย์หรือพยาบาล
ไข้ อาจพบได้ ตั้งแต่วันแรกทีฉีด และเป็นอยู่ 1-2 วัน หากตัวร้อนมีไข้ ให้เช็ดตัวลดไข้ ให้ยาลดไข้ ตามคําแนะนําของแพทย์หรือพยาบาล
✅ในกรณีทีมีไข้สูง อาจเกิดอาการชักได้ในเด็กเล็ก ควรเช็ดตัวและให้ยาลดไข้
✅ในกรณีได้รับวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม หรือวัคซีนสุกใส อาจมีไข้และผื่นขึ้น หลังได้รับวัคซีนไปแล้ว 5-7 วัน
✅หากมีอาการผิดปกติหรือเจ็บป่วยรุนแรงภายหลังได้รับวัคซีน เช่น ร้องกวน อาเจียน ผื่น ควร มาพบแพทย์
✅หากถึงกําหนดนัดวัคซีนครั้งต่อไป แต่เด็กมีไข้ ควรเลือนการรับวัคซีนไปจนกว่า เด็กจะหายไข้

ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือ อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) สำหรับเด็ก

✅ ยาพาราเซตามอล เป็นยาลดไข้และแก้ปวด นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในผู้ป่วยเด็กที่ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกวิธี

✅ ยาพาราเซตามอลมีหลายรูปแบบ ในรูปแบบรับประทานมีทั้งยาเม็ดและยาน้ำ ในผู้ป่วยเด็กเล็ก หรือ อายุต่ำกว่า 7-10 ปี นิยมรับประทานเป็นรูปแบบน้ำ

โดยรูปแบบยาน้ำที่มีขายในประเทศไทย มีความเข้มข้น 4 แบบ ได้แก่

🔸 100 มิลลิกรัมต่อปริมารณยา 1 มิลลิลิตร
🔸 120 มิลลิกรัมต่อปริมารณยา 5 มิลลิลิตร
🔸 160 มิลลิกรัมต่อปริมารณยา 5 มิลลิลิตร
🔸 250 มิลลิกรัมต่อปริมารณยา 5 มิลลิลิตร

ขนาดยาพาราเซตามอล

โดยทั่วไปขนาดที่ใช้คือ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักเป็นกิโลกรัมต่อครั้ง
⚠️ควรเว้นระยะห่างของมื้อยาอย่างน้อย 4 ชั่วโมงและไม่ควรเกิน 60 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักเป็นกิโลกรัมต่อวัน

ตัวอย่างการคำนวณ
เด็กน้ำหนัก 10 กก. ต้องการให้ยาลดไข้พาราเซตามอล
คำนวณที่ 10 มิลลิกรัมต่อ น้ำหนักเป็น กก. ต่อครั้ง (หรือ 10 mg/kg/dose) 10 มก. × 10 กก. = 100 มก./ครั้ง

✅ใช้ยาพาราเซตามอล ความเข้มข้นต่าง ๆ ดังนี้ (ตัวใดตัวหนึ่ง)

🔸 100 มิลลิกรัมต่อปริมารณยา 1 มิลลิลิตร: ให้ยา 1 มิลลิลิตร ต่อ ครั้ง
🔸 120 มิลลิกรัมต่อปริมารณยา 5 มิลลิลิตร: ให้ยา 4.2 มิลลิลิตร ต่อ ครั้ง
🔸 160 มิลลิกรัมต่อปริมารณยา 5 มิลลิลิตร: ให้ยา 3.2 มิลลิลิตร ต่อ ครั้ง
🔸 250 มิลลิกรัมต่อปริมารณยา 5 มิลลิลิตร: ให้ยา 2 มิลลิลิตร ต่อ ครั้ง
⚠️ซ้ำได้ทุก 4 ชั่วโมงหากยังมีไข้ หรือ ไม่เกิน 6 ครั้งต่อวัน

ตัวอย่างยาและวิธีสังเกตขนาดยา

อาการแบบไหนและความเสี่ยงแบบไหนที่สงสัยว่าเป็นโควิด

✅หากบุตรหลานของท่านมีอาการดังต่อไปนี้ 2 อย่างขึ้นไป ได้แก่

🔸ไข้
🔸ไอ/ มีเสมหะ/ เจ็บคอ
🔸น้ำมูก/ คัดจมูก

✅หรืออาการข้างต้น 1 อย่างร่วมกับ

🔸คลื่นไส้/ อาเจียน/ ถ่ายเหลว
🔸อ่อนเพลีย/ ปวดศีรษะ/ ปวดกล้ามเนื้อ
🔸ผื่น

✅หรือมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

🔸หอบเหนื่อย/ หายใจลำบาก
🔸การได้รับกลิ่น/ รับรสผิดปกติ
🔸สับสน/ ความรู้สึกตัวลดลง

✅หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโควิด19 ใกล้ชิด/ ร่วมอาศัยด้วยกัน

⚠️หากมีอาการเหล่านี้แนะนำให้ลองตรวจ  ATKเองเบื้องต้นได้ หรือกรณีไม่แน่ใจให้เข้ามารับการรักษาที่ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติในเวลาราชการได้ค่ะ

เมื่อพบว่าลูกเป็นโควิดต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และวิธีสังเกตอาการของลูก

เมื่อตรวจว่าบุตรหลานของท่านมี ATK ขึ้น 2 ขีด หรือน่าจะติดเชื้อโควิด ไม่ต้องตกใจนะคะ ให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครอง สังเกตอาการดังนี้

✅ อาการทั่วไปของโควิด-19 โดยปกติ จะมีอาการไข้สูงอาจมีได้ 2-3 วันต่อเนื่องกัน ขึ้นกับร่างกายลูก และการตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อโควิด ร่วมกับมีอาการน้ำมูกไอเจ็บคอเสมหะ หรืออาเจียนถ่ายเหลว รวมทั้งผื่นแนะนำเบื้องต้นให้รักษาตามอาการเป็นหลัก หากมีไข้ รับประทานยาลดไข้ ได้ทุก 4-6 ชั่วโมง เช็ดตัว หรือสามารถอาบน้ำเพื่อลดไข้ได้

⚠️ สำหรับเด็กเล็กต่อว่า 5 ปี แนะนำให้เช็ดตัว และรับประทานยาลดไข้เป็นระยะ เพื่อลดโอกาสเกิด ภาวะไข้สูงชักได้

✅ กรณีมีน้ำมูก
🔸สำหรับเด็กเล็กน้อยกว่า 2 ปี แนะนำให้ล้างจมูก เป็นหลัก ดูแลอย่าให้จมูกตัน
🔸ในเด็กโตสามารถรับประทานยาลดน้ำมูกได้เบื้องต้น

✅กรณีมีไอเสมหะ
🔸แนะนำให้รับประทานยาละลายเสมหะได้ ดื่มน้ำอุ่น หรืออุณหภูมิห้องบ่อย ๆ ทำร่างกายให้อบอุ่น
🔸ไม่อยู่บริเวณที่ลมตก เพราะอาจจะกระตุ้นอาการไอได้

✅กรณีมีอาเจียนถ่ายเหลว
🔸แนะนำให้จิบน้ำ น้ำเกลือแร่ ป้องกันภาวะขาดน้ำ

✅กรณีอาการดังต่อไปนี้ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อประเมิน และรักษา ได้แก่
🔸ซึม กินไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อไม่มีไข้
🔸หอบเหนื่อย หายใจเร็ว ปีกจมูกบาน อกบุ๋มกระเพื่อมผิดปกติ
🔸อาเจียน ถ่ายเหลวปริมาณมาก หรือมีมูกเลือดปน
🔸ผื่นบวมแดงมาก

หากมีอาการดังกล่าว หรือกรณีผู้ปกครองไม่แน่ใจ สามารถเข้ามารับการตรวจประเมินจากกุมารแพทย์ในโรงพยาบาล

อัพเดตเกี่ยวกับวัคซีนโควิด
ชนิดวัคซีนช่วงอายุปริมาณที่ใช้วิธีฉีดจำนวนเข็ม/ระยะห่างหมายเหตุ
Pzifer5-12 ปี0.2 ml
(20 microgram)
ฉีดเข้ากล้าม2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 8 สัปดาห์
Pzifer12-18 ปี0.3 ml
(30 microgram)
ฉีดเข้ากล้าม2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 8 สัปดาห์
Moderna6-11 ปี0.25 ml
(50 microgram)
ฉีดเข้ากล้าม2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์แนะนำห่างอย่างน้อย 8-12 สัปดาห์ซึ่งได้ผลตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าและผลข้างเคียงน้อยกว่า
12-18 ปี0.5 ml
(100 microgram)
ฉีดเข้ากล้าม2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์แนะนำห่างอย่างน้อย 8-12 สัปดาห์ซึ่งได้ผลตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าและผลข้างเคียงน้อยกว่า
Sinopharm*6-18 ปี0.5 ml
(4 microgram)
ฉีดเข้ากล้าม
Sinovac*6-17 ปี0.5 ml
(3 microgram)
ฉีดเข้ากล้าม
COVOVAX12-17 ปี0.5 ml
(5 microgram)
ฉีดเข้ากล้าม2 ครั้ง ห่างกัน
3 สัปดาห์

*สำหรับเข็มกระตุ้น แนะนำให้ห่างจากเข็มสอง 4-6 เดือน

อ้างอิงจาก ราชวิทยาลัย กุมารแพทย์แห่งประเทศไทย คำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับ เด็ก และวัยรุ่น  วันที่ 15 พ.ค.65

หลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 คำแนะนำสำหรับการสังเกตอาการและปฏิบัติตัว เหมือนกับการฉีดวัคซีนโดยทั่วไป

เช็คผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด

✅ณ ปัจจุบันในประเทศไทย มีการให้วัคซีนโควิด-19 แก่เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป การรับวัคซีนเป็นการฝึกให้ร่างกายเตรียมพร้อมในการสู้กับเชื้อโรค  วัคซีนโควิดที่ใช้ในประเทศไทยปัจจุบันก็เป็นการให้เชื้อโรคที่ตายหรือชิ้นส่วนของเชื้อโรคโควิด-19 เข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านเชื้อโรคได้ทันเมื่อเราได้รับเชื้อเข้ามาจริงๆ  การรับวัคซีนจะช่วยลดอาการรุนแรง หรือลดโอกาสการติดเชื้อโควิด-19 ได้

วัคซีนนั้นก็เหมือนกันการรับยาทั่วไป เมื่อเรารับวัคซีนเข้ามาในร่างกาย อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับร่างกายได้ แต่โดยส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะไม่รุนแรงและหายได้เองในระยะเวลาอันสั้น

อาการที่พบได้บ่อยใน 1-2 วันแรกหลังรับวัคซีน

✅ปวดตึง บริเวณที่ฉีด
✅รู้สึกเพลีย ง่วง
✅คลื่นไส้
✅ปวดศีรษะ  ปวดเมื่อยตามตัว
✅มีไข้ หนาวสั่น

อาการเหล่านี้เป็นอาการข้างเคียงชนิดที่ไม่รุนแรง สามารถดูแลได้ด้วยตัวเอง

✅ควรให้เด็กพักผ่อน หากปวดบริเวณที่ฉีดสามารถประคบเย็นได้ และ สามารถให้ทานยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวดลดไข้ได้ค่ะ  อย่างไรก็ตามควรเช็คขนาดยาพาราเซตามอลให้ถูกต้อง  ซึ่งขนาดยา คือ 10-15 มก./กก./ครั้ง กรณีมีไข้หรือปวด สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 6 ชม. ค่ะ

✅อาการข้างเคียงที่เจอไม่บ่อย แต่อาจพบได้ เช่น ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้โต ข้างเดียวกับที่ฉีด หากเกิน 10 วันต่อมหรือก้อนไม่ยุบลง หรือ มีอาการบวม แดง ร้อน กดเจ็บ ควรพบแพทย์

อาการข้างเคียงชนิดรุนแรง

อาการแพ้วัคซีนรุนแรง ภาวะนี้ผูป่วยจะอาการหายใจลำบาก หอบ ผื่นขึ้น อาเจียนหรือภาวะช๊อค  อย่างไรก็ตามภาวะนี้พบน้อยมาก และมักเกิดภายใน 15 นาทีแรก จึงมีความจำเป็นที่ผู้รับวัคซีนต้องนั่งสังเกตอาการ 15-30 นาที ในสถานที่ฉีดวัคซีนด้วยเสมอ

มีรายงานพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบบ้าง ตามหลังการรับวัคซีนโควิด-19  โดยพบได้ในเด็กชาย ช่วงอายุวัยรุ่น (12-17 ปี) มากที่สุด เมื่อเทียบกับผู้รับวัคซีนช่วงอายุอื่น

หากบุตรหลานมีอาการ
🔸เจ็บหน้าอก หรือ หายใจแล้วรู้สึกเจ็บหน้าอก
🔸หายใจไม่สะดวก รู้สึกเหนื่อย
🔸ใจสั่น เป็นลมหมดสติ

ควรพบแพทย์

สาเหตุ: การเกิดภาวะดังกล่าว ยังไม่เป็นที่ชัดเจนนัก เชื่อว่าอาจเกิดจากลักษณะบางส่วนของเปลือกไวรัส มีหน้าตาคล้ายโปรตีนของเซลล์หัวใจ ทำให้เกิดเป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจขึ้นได้ หรือ อาจเกิดปฏิกิริยาอักเสบของร่างกายหลังฉีดวัคซีน ก็เป็นได้ อาการอาจเกิดได้ตั้งแต่วันแรกจนถึง 1-2 สัปดาห์ หลังจากได้รับวัคซีน ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ตามหลังการรับวัคซีน ส่วนมากมักจะมีอาการไม่มากและหายได้เอง

แนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหักโหม หรือ การออกกำลังกายมีอาการเหนื่อยจนไม่สามารถพูดได้จบประโยคระหว่างออกกำลังกาย หรือ การแข่งขันกีฬา ในช่วง 1 สัปดาห์หลังการฉีดวัคซีนชนิด mRNA* เนื่องจากผู้ป่วย myocarditis หรือ pericarditis ส่วนหนึ่งไม่มีอาการ ซึ่งการออกกำลังกายอาจทำให้เกิดอันตรายในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้

⚠️นอกจากนี้เด็กมี ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดหัวรุนแรง อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้หรือซึม ไม่รู้สึกตัว ควรพบแพทย์ทันที

วัคซีนโควิด-19 ป้องกันอาการรุนแรงของโรคได้  แต่อย่างไรก็ตามหลังจากรับวัคซีนแล้วยังคงต้องใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ล้างมือ สวมใส่หน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างตามหลักการทั่วไปของการป้องกันโรคโควิด19 ต่อไป

ภาวะ MIS-C (มิสซี) Multisystem Inflammatory Syndrome in Children

MIS-C คืออะไร?

✅กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบ ที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19
✅เริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรคจนถึงหลังติดเชื้อ 2 – 6 สัปดาห์
✅สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้มากเกินไป -อุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 0.03 ของผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิดทั้งหมด  (10,000 เจอ 3 คน)

อาการ

✅เด็กมักจะมาด้วยอาการไข้สูง

🔸ผื่น (ผิวหนังแดง ปากแดง ตาแดง มือเท้าแดง)
🔸ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว
🔸บางรายมีหอบเหนื่อย ปอดอักเสบ
🔸ปวดศีรษะรุนแรง สับสน ชัก 
🔸หากมีอาการรุนแรงผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกและเสียชีวิตได้

✅ผู้ป่วยเด็กมากกว่าร้อยละ 50 จำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยเด็กวิกฤตเนื่องจากภาวะช็อค ภาวะนี้มีอันตรายถึงชีวิตได้

การวินิจฉัย

ยังไม่มีการตรวจเลือดที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการวินิจฉัยภาวะ MIS-C นี้  แต่แพทย์จะใช้อาการ และ ผลเลือดที่ดูค่าการอักเสบของร่างกายในการวินิจฉัย  ร่วมกับ การหาหลักฐานการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาก่อนหรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัส SARS CoV2

การรักษา

อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3

สามารถรักษาด้วยการ
🔸ให้ อิมมูโนกลอบูลิน และสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบในร่างกาย
🔸ให้ยา aspirin (มีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือด) เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดหัวใจ

โชคดีที่ว่า ภาวะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตอบสนองต่อการรักษาดี

หากผู้ป่วยไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาใช้ Biologic medicines เช่น Interleukin-1 receptor antagonist (ยา anakinra, ana-kin-ra) หรือ Anti-interleukin-6 receptor monoclonal antibody (ยา tocilizumab, toci-li-zu-mab).

MIS-C vs Long COVIDAccordion Item

ภาวะ Long COVID  นิยามองค์การอนามัยโลก (6 ตุลาคม 2564) ระบุว่า เป็นอาการผิดปกติเกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนมากตั้งแต่ 3 เดือนนับจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน โดยอาการเกิดขึ้นได้หลายระบบอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับติดเชื้อโควิดนานกว่า 4-12 สัปดาห์และอาการที่เกิดขึ้นไม่สามารถ อธิบายได้ด้วยการวินิจฉัยสาเหตุอื่นๆ

ในเด็กพบ long-term effect ได้ ทั้งกลุ่มที่มีของ COVID รุนแรงหรือมีอาการของ COVID เพียงเล็กน้อย ซึ่งระบบที่พบ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

อาการที่พบได้เช่น เหนื่อยง่าย ปวดศรีษะ มีปัญหาในการนอน ไม่มีสมาธิ ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อ ไอเรื้อรัง

ภาวะเหล่านี้มักไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง อาการจะเป็นๆหายๆได้ การรักษาโรคนี้มักเป็นการแยกโรคที่รุนแรงอื่นและรักษาตามอาการ รวมถึงการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

MIS-C ที่อาการเฉียบพลัน และรุนแรง เด็กจะมีอาการหนัก ไม่ใช่เรื้อรัง ต่างกับ Long COVID มีอาการหลายระบบได้เช่นกัน แต่จะเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ

คำแนะนำจากแพทย์

เด็กที่ป่วยด้วยโรค MIS-C อาจเกิดอาการช็อกหรือเสียชีวิตได้แม้จะมีสุขภาพแข็งแรง และไม่มีโรคประจำตัว ผู้ปกครองจึงควรเฝ้าระวังอาการของเด็กหลังหายป่วยจากโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด หากเด็กมีอาการคล้ายกับโรค MIS-C ผู้ปกครองควรพามาพบแพทย์ทันที

แล้วเราจะป้องกันภาวะ MIS-C ได้อย่างไร?

การป้องกันที่ดีที่สุด ก็คือ การลดโอกาสการติดเชื้อโควิด-19 นั่นเอง  โดยการ
🔸รับวัคซีนป้องกันโควิด-19
🔸สวมใส่หน้ากาก
🔸รักษาระยะห่าง โดยอยู่ห่างจากผู้อื่นประมาณ 1.5-2 เมตร เลี่ยงบริเวณแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
🔸ล้างมือบ่อย ๆ