มะเร็งสมอง

โรคที่เกิดจากเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายบริเวณสมอง และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเกิดขึ้นเองที่เนื้อเยื่อสมอง หรือจากการลุกลามของมะเร็งจากอวัยวะอื่น มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น การสัมผัสสารเคมี การสูบบุหรี่ หรือประวัติการเกิดโรคมะเร็งของสมาชิกในครอบครัว ส่งผลต่อร่างกายและการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ปวดศีรษะ เป็นลม คลื่นไส้อาเจียน ปัญหาด้านการทรงตัว ความคิด สติปัญญา ความทรงจำ การพูด การมองเห็น บุคลิกภาพ และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

สถิติ

ผู้ป่วยโรคมะเร็งในไทย เสียชีวิตเฉลี่ยมากถึงวันละ 342 คน หรือ 124,866 คนต่อปี (ข้อมูลปี 2563) ในจำนวนนี้มีเพียง 1% ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งสมอง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ป่วยมะเร็งสมองจะมีสัดส่วนน้อย เมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด

มะเร็งสมองเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก รักษาหายขาดได้ยาก และมีโอกาสรอดน้อยกว่า 10%

สัญญาณเตือน

  • ปวดหัวบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีอาการปวดตอนกลางคืนจนต้องตื่นจากการนอน
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  •  มีปัญหาในการพูด พูดจาติดขัด
  • มีปัญหาในการได้ยิน
  • มีปัญหาในการมองเห็น เห็นภาพเบลอ หรือภาพซ้อน
  • มีปัญหาด้านความจำ สับสน มึนงง
  • มีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ บุคลิกภาพ พฤติกรรม
  • มีปัญหาการทรงตัว เสียสมดุล
  • สูญเสียการรับรู้ของประสาทสัมผัส แขนขาอ่อนแรง
  • มีอาการชัก

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ

  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น
  • พฤติกรรมการสูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน
  • มีประวัติการเกิดโรคมะเร็งสมองกับสมาชิกในครอบครัว
  • เป็นโรคมะเร็งในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายที่สามารถแพร่กระจายมายังสมองได้ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma)
  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
  • การสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสี สารเคมี รวมไปถึงยากำจัดศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
  • การทำงานเกี่ยวกับสิ่งที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น พลาสติก ตะกั่ว ยาง น้ำมัน รวมถึงสิ่งทอบางชนิด

แนวทางการรักษา

  • การผ่าตัด เพื่อทำการกำจัดเนื้องอกที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดเซลล์มะเร็ง
  • การรักษาด้วยรังสี (Radiation Therapy) คือการฉายแสงที่มีพลังงานสูงเพื่อทำลาย ลดการขยายตัวและหยุดการเจริญเติบโตของเนื้อร้าย เป็นการรักษาที่ช่วยลดการเป็นซ้ำหลังผ่าตัด หรือในรายที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด
  • การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือที่เรียกว่าการทำคีโม คือการใช้ยา อาจเป็นยา 1 ชนิดหรือรวมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปในการรักษา สามารถให้ได้ทั้งทางเส้นเลือดหรือรับประทาน จะใช้ยาเป็นรอบ ๆ โดยจะเว้นระยะให้ผู้ป่วยได้พักฟื้น และดูการตอบสนองต่อการรักษา
  • การฟื้นฟูสมรรถภาพหรือการทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยบางรายอาจพบว่าสมองถูกทำลายจากเซลล์มะเร็ง ทำให้ส่งผลต่อความสามารถในการใช้ชีวิตได้ จำเป็นที่จะต้องเข้ารับการฟื้นฟูเพื่อสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ
  • การฟื้นฟูโดยการรักษาแบบทางเลือก ซึ่งวิธีนี้ควรปรึกษาแพทย์สำหรับทางเลือกที่ดีและเหมาะสมที่สุดในผู้ป่วยแต่ละราย