โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมเสวนา “Close the care gap” ลดวิกฤตปัญหาผู้ป่วยมะเร็งสู่ความเท่าเทียมด้านการรักษา เนื่องในวันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ ผ่านระบบออนไลน์

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมเสวนา “Close the care gap” ลดวิกฤตปัญหาผู้ป่วยมะเร็งสู่ความเท่าเทียมด้านการรักษา เนื่องในวันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ ผ่านระบบออนไลน์

กรุงเทพฯ 4 กุมภาพันธ์ 2565 – ด้วยองค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากล ได้กำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งถือกำเนิดจากการเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง จากพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงมุ่งหวังจะช่วยเหลือประชาชนคนไทยให้พ้นจากทุกข์ภัยของโรคมะเร็ง รวมถึงยกระดับคุณภาพการรักษาพยาบาลให้ได้มาตรฐานสากล ควบคู่กับการศึกษาค้นคว้าวิจัย สร้างนวัตกรรมองค์ความรู้ และเพื่อยกระดับการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยให้มีคุณภาพทัดเทียมนานาประเทศ ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมความรู้และการดูแลเชิงป้องกันให้กับประชาชนเพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ พร้อมทั้งผลักดันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างเท่าเทียม จึงได้จัดกิจกรรมเสวนาครั้งนี้ขึ้นผ่านระบบออนไลน์และ Facebook live โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, SpringNew, Nation, กรุงเทพธุรกิจ, คมชัดลึก

งานเสวนาเนื่องในวันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ “Close the care gap ลดวิกฤตปัญหาผู้ป่วยมะเร็ง สู่ความเท่าเทียมด้านการรักษา” จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทราบถึงภัยของโรคมะเร็ง ตระหนักถึงสิทธิการรักษาของตนเอง และร่วมมือกันเพื่อเสวนาหาแนวทางยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งให้ดียิ่งขึ้น ภายในงานกิจกรรมเวทีเสวนานี้ได้รับเกียรติจาก ศ. นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวเปิดงาน จากนั้น Mr.Omar Akhtar, HEOR Director APAC, Ipsos นำเสนอรายงานการศึกษาเพื่อแนะแนวทางเพิ่มการเข้าถึงการรักษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยมะเร็ง (หรือ Modernization of Thai HTA-Identifying Alternative Approaches in Thai HTA to Improve Cancer Patient Outcomes) และกล่าวสรุปโดย รศ.ภญ.ดร.ร.ต.ท.หญิง ภูรี อนันตโชติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.นพ.ธีรภัทร อึ้งตระกูล ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ พญ.จอมธนา ศิริไพบูลย์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก่อนจะเข้าสู่การบรรยายโดย คุณศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานกรรมการมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง เกี่ยวกับความพร้อมและความต้องการเชิงลึกของผู้ป่วยมะเร็งและบุคลากรการแพทย์ในประเทศไทย พร้อมกันนี้เวทีเสวนาในหัวข้อ “ทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงการรักษามะเร็งอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ นายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย, ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และคุณศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานกรรมการมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ร่วมเสวนาให้ความรู้บนเวทีแห่งนี้ด้วย
จากรายงานประจำปีขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) เผยว่าในปี พ.ศ. 2561 พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้น 18.1 ล้านคนทั่วโลกและอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งพุ่งสูงขึ้นถึง 9.6 ล้านคน โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่อยู่ในทวีปเอเชีย ทั้งนี้ สาเหตุการเกิดมะเร็งมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต อาหาร มลภาวะ รวมถึงการกลายพันธ์ุของยีน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบันช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งมีตัวเลือกนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งหลากหลายกว่าในอดีต โดยการเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผลลัพธ์การรักษาดียิ่งขึ้น ลดผลกระทบด้านจิตใจและด้านค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและผู้ดูแล รวมถึงลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและกำลังการผลิตของประเทศไทยลงได้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การรักษา และความคุ้มครองด้านสุขภาพจาก 3 กองทุน ได้แก่ สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “ การจัดงานวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการนำเสนอรายงาน Modernization of Thai Health Technology Assessment (HTA) แนวทางในการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งโดยทางเลือกหลากหลายในเชิงของการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพและทางเลือกทางด้านการบริหารทางการเงิน และนำเสนอรายงานความพร้อมพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง (Thailand cancer preparedness) รวมถึงการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางในการพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ โรคมะเร็ง ถือเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก เพราะมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคที่สูงขึ้นทุกปี เนื่องจากวิถีในการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งถือเป็นอันดับสองของโลก ในปี 2020 โรคมะเร็งคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 10 ล้านคน ซึ่งเทียบเท่ากับประชากรในกรุงเทพฯ สำหรับประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ซึ่งสถิติล่าสุดที่พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ 139,206 คนต่อปี และในจำนวนนี้ มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 84,073 คนต่อปี โดยอัตราการเพิ่มโรคมะเร็งที่สูงขึ้น ยังนำมาสู่ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่เป็นภาระของผู้ป่วยและครอบครัว ที่ต้องหยุดงานในการมาดูแลรักษา ยังรวมถึงการที่รัฐต้องทุ่มเทจัดสรรทรัพยากรต่างๆ เช่น บุคลากร ยารักษา เครื่องมือแพทย์เพื่อตอบสนองการดูแลผู้ป่วย โดยมีตัวเลขจากการสูญเสียชีวิตก่อนวันอันควรจากโรคมะเร็งกระทบต่อเศรษฐกิจถึง 44,394 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.4% GDP ของประเทศไทย
ในปี 2565 นี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ร่วมมือกับสมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล และหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง อาทิ เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สมาคมมะเร็งวิทยา และ มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง จัดทำการรณรงค์เนื่องในวันมะเร็งโลกขึ้นภายใต้ Theme: Close the care gap มุ่งลดวิกฤตปัญหาผู้ป่วยมะเร็งขึ้น ซึ่ง “Close the care gap” นั้นมีหลากหลายมุมมองที่เราคำนึงถึง ทั้งการเพิ่มความตระหนักรู้ให้กับสังคมเพื่อป้องกันการโรคมะเร็ง การเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ในการรักษา และการส่งเสริมและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม เพื่อโอกาสการรักษาให้หายขาดจากโรคมะเร็ง และเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยควบคู่ไปกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มุ่งหวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานในวันนี้ จะก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคม รวมทั้งได้นำเสนอแนวคิดใหม่ๆในการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาผ่านรายงานวิชาการ Modernization of Thai HTA-identifying Alternative Approaches in Thai HTA to Improve Cancer Patient Outcomes หรือ รายงานการศึกษาเพื่อเสนอแนะแนวทางในการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยมะเร็ง และการแลกเปลี่ยนแนวความคิดนำไปสู่การต่อยอดในระดับนโยบายต่อไป ”
ทั้งนี้ สามารถติดตามรับชมงานเสวนาย้อนหลัง ได้ทาง Youtube : CHUlabhorn Channel https://youtu.be/YV5ovQfo5zA Facebook : โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ https://clicklo.net/8ki74