ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ เปิดงาน “โครงการหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการวางยาสลบสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ: ม้าลาย”

21 มีนาคม 2565: ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำโดย รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ กล่าวเปิดงาน “โครงการหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการวางยาสลบสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ: ม้าลาย” และให้การต้อนรับนายสัตวแพทย์ของหน่วยพัฒนาสุขภาพและผลผลิตสัตว์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ จำนวน 10 คน ณ ห้องประชุมใหญ่ MC 232 ชั้น 3 สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

                     จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) ในประเทศไทย ซึ่งก่อโรคในม้า ลา ล่อ ม้าลาย และอูฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ม้าลาย ซึ่งจัดอยู่ในตระกูล Equidae จึงมีความเสี่ยงที่จะสามารถติดโรค และแพร่โรคได้ ดังนั้นในการดำเนินการควบคุมโรค จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อตรวจหาเชื้อและระดับภูมิคุ้มกันทางห้องปฏิบัติการจากม้าลายด้วย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้จัด “โครงการหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการวางยาสลบสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ : ม้าลาย” ขึ้นในระหว่างวันที่ 21 – 26 มีนาคม 2565 ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และเทศบาลตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี โดยในจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2565 นี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ บรรยายในหัวข้อ “ ถอดบทเรียนจากการวางยาสลบเพื่อการเฝ้าระวังโรค African horse sickness ” การบรรยายในหัวข้อ “ ภาพรวมการปฏิบัติงานกับม้าลาย ” โดย อาจารย์ นายสัตวแพทย์ณฐวุฒิ คณาติยานนท์ และการบรรยายฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน ( Basic Life Support : BLS ) โดยนพ.วิโรจน์ เมืองศิลปะศาสตร์ รองผู้อำนวยการศูนย์หัวใจและหลอดเลือดด้านการแพทย์ ก่อนจะเดินทางออกฝึกภาคปฏิบัติ ณ จังหวัดสุพรรณบุรี

                     การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงาน อาทิเช่น สพ.ญ.ดร.วัลยา ทิพย์กันทา สพ.ญ.เสาวภางค์ สนั่นหนู สพ.ญ.อุมาพร ใหม่แก้ว จากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ น.สพ. ณฐวุฒิ คณาติยานนท์ และ น.สพ.วัชรินทร์ หินอ่อน จากชมรมสัตวแพทย์สัตว์ป่าและสวนสัตว์แห่งประเทศไทย โดยมีเนื้อหาวิชาการประกอบด้วยการจัดเตรียมอุปกรณ์ในการวางยาสลบม้าลาย การใช้ยาในกลุ่ม ultra-potent narcotic drugs และขั้นตอนแนวปฏิบัติในกรณีฉุกเฉิน ขั้นตอนการปฏิบัติงานในการวางยาสลบและเก็บตัวอย่างจากม้าลาย การจับบังคับและการจัดท่าสัตว์ขณะวางยาสลบ การติดตามการสลบของสัตว์และวิธีการใช้อุปกรณ์ติดตามการสลบ

                     ทั้งนี้ ม้าลายเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษที่มีสัญชาตญาณสัตว์ป่า มีพฤติกรรมที่แตกต่างจากม้าเลี้ยง มีความตื่นกลัว ดุร้าย ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน และตัวสัตว์เองได้ หากมีการจับบังคับ ควบคุม หรือใช้ยาสลบที่ไม่เหมาะสม จึงมีความจำเป็นต้องใช้ยาสลบที่แตกต่างไปจากสัตว์เลี้ยงทั่วไป คือยาในกลุ่ม ultra-potent narcotic drugs ได้แก่ Etorphine HCl (M99) ที่ให้ผลดีในการเหนี่ยวนำการสลบ และฟื้นสลบอย่างปลอดภัย เนื่องจาก Etorphine HCl (M99) เป็นยาอันตรายที่จัดอยู่ในบัญชีควบคุมพิเศษ มีความรุนแรงกว่า morphine ถึง 1,000 เท่า ผู้ใช้ยาจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญในการใช้ โดยผ่านการฝึกอบรมพิเศษเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและสัตว์ “โครงการหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการวางยาสลบสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ : ม้าลาย” นี้ จึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยมุ่งหวังให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมสามารถวางยาสลบสัตว์ด้วยยา Etorphine HCl (M99) เพื่อนำมาปรับใช้ในการเก็บตัวอย่างเพื่อเฝ้าระวังโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป