1 เมษายน 2565 : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฎิบัติการ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย หัวข้อ “ แนวทางการบริหารจัดการด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนทางระบบสาธารณสุข ” (Alternative financing solution and Manage Entry Agreement seminar: Unleash access of unattainable medicines) ผ่านระบบ Zoom meeting ร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องแนวทางการบริหารจัดการด้านการเงิน เพื่อความยั่งยืนทางระบบสาธารณสุขของประเทศ พร้อมร่วมรับฟังการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และวางแนวทางที่นำไปสู่การปฎิบัติต่อไป
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “ สิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการและบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศ คือ การหาทางออกในการบริหารการเงิน เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ครอบคลุมและเท่าเทียมมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการรักษาด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ตามองค์ความรู้ที่ผ่านการวิจัยที่รับรองมาแล้ว การจัดประชุมสัมมนาเชิงปฎิบัติการฯ ในวันนี้ จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการสร้างแนวทางการเข้าถึงการรักษาใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการประยุกต์ใช้แนวทางในการบริหารจัดการด้านการเงินที่เป็นที่ประจักษ์จากต่างประเทศให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเที่ยงธรรม ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข พร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทุกคน ”
ด้าน ศ.ดร.พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “ การจัดการประชุมสัมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักในการหาทางออกสำหรับผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย เพื่อให้สามารถผลักดันนโยบายและกลไกที่ส่งเสริมการเข้าถึงยาและนวัตกรรม สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเป็นไปอย่างเท่าเทียมต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ตลอดจนนำไปสู่การปฎิบัติได้จริงในประเทศไทย ทั้งนี้ การจัดงานในวันนี้ สืบเนื่องมาจากการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในหัวข้อ Modernization of Thai Health Technology Assessment (HTA): Identifying the alternative approach in Thai Health Technology Assessment to improve cancer patient outcomes เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 และได้มีการจัดทำรายงานการวิจัยทบทวนวรรณกรรมถึงแนวทางที่มีการนำมาใช้ในต่างประเทศ (white paper) ได้มีการนำเสนอผลการศึกษาต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 เนื่องในวันมะเร็งโลกที่ผ่านมา ผู้กำหนดนโยบายและบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงแนวทางที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ”
สำหรับการประชุมสัมมนาเชิงปฎิบัติการในครั้งนี้ มีบุคลากรด้านสาธารณสุขระดับประเทศและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าร่วมสัมมนาให้ความรู้ อาทิ
- นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข
- นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสุขภาพ
- นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ
- รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ นายกสมาคมมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย
- ดร.รพีสุภา หวังเจริญรุ่ง รองผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
- ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย คณะกรรมการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการนำยาราคาแพงหรือมีข้อจำกัดเข้ามาใช้ในสิทธิหลักประกันสุขภาพ
- รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ คณะกรรมการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการนำยาราคาแพงหรือมีข้อจำกัดเข้ามาใช้ในสิทธิหลักประกันสุขภาพ
- รศ.ดร.ภญ.ร.ต.ท.หญิง ภูรี อนันตโชติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุ
- ผศ.นพ.ธีรภัทร อึ้งตระกูล รองคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
- พญ.จอมธนา ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
- Prof. Fabrizio Gianfrate วิทยากรจากประเทศอิตาลี
- Prof. Jeonghoon Ahn วิทยากรจากประเทศเกาหลี
นอกจากนี้ ภายในงานยังประกอบด้วยการบรรยายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการด้านการเงินสำหรับยารักษามะเร็งที่มีราคาสูง เพื่อความยั่งยืนทางระบบสาธารณสุข และการถอดบทเรียนจากการดำเนินการในประเทศอิตาลีและประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางไปสู่การปฎิบัติในประเทศไทยต่อไป