คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ จัดงานแถลงข่าวการดำเนินงานด้านการบริบาลผู้สูงอายุ จังหวัดน่าน ผลผลิตภายใต้แผนงานวิจัย “การพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบสู่วิสาหกิจชุมชน ด้านการบริบาลผู้สูงอายุ” สร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุในระดับชุมชนโดยภาคประชาสังคมที่เป็นแนวคิดการจัดการตนเอง สู่การเป็นชุมชนพึ่งตนเองด้านการดูแลผู้สูงอายุ เกิดการสร้างรายได้เพิ่มจากการให้บริการ พร้อมกับการสร้างระบบการจัดการระดับพื้นที่ให้มีความพร้อมในการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่พิสูจน์แล้วด้วยกระบวนการทางการวิจัย
27 มิถุนายน 2565: ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยฯ ได้กล่าวถึงภาพรวมของการดำเนินงานแผนงานวิจัย “การพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบสู่วิสาหกิจชุมชน ด้านการบริบาลผู้สูงอายุ” ประจำปีงบประมาณ 2565 โครงการย่อยที่ 3 การศึกษาเปรียบเทียบหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง ตามมาตรฐานกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และการประยุกต์หลักสูตรเพื่อเพิ่มสมรรถนะของนักบริบาลให้เหมาะสมกับพื้นที่พิเศษ โดยการบูรณาการความร่วมมือกับ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน เฉลิมพระเกียรติฯ และมหาวิทยาลัยราชภัฏกําแพงเพชร ในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง ระบบ Hybrid Learning เพื่อผลิตบุคลากรด้านการดูแลผู้สูงอายุในจังหวัดน่าน จำนวน 40 คน และได้เพิ่มการอบรมหลักสูตร มัคคุเทศก์ โดยความร่วมมือจากกรมการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มศักยภาพของนักบริบาลในการรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ สนองต่อนโยบายการพัฒนาจังหวัดน่าน สู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวในปัจจุบัน และในอนาคต
โดยในปัจจุบันจังหวัดน่านได้เกิดการรวมกลุ่ม และจัดตั้ง วิสาหกิจชุมชนด้านการบริบาลผู้สูงอายุ ในชื่อ “วิสาหกิจชุมชนบริบาลน่าน กระซิบรัก” ภายใต้แนวคิด “บริการด้วยหัวใจ ห่วงใย มีคุณธรรม” เพื่อให้บริการดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงทั้งในขณะเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ติดตามดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงที่บ้านทั้งแบบไป – กลับ และ แบบประจำรายเดือน เพื่อสร้างอาชีพให้กับสมาชิก ควบคู่กับการเป็นจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุในชุมชน โดยการใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนด้านการบริบาลผู้สูงอายุผ่านแอปพลิเคชั่นมือถือ (Application for Caregiver management) ที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัย เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการบริบาลผู้สูงอายุในยุควิถีใหม่ (New Normal) และการกำกับติดตามผู้ให้บริการ โดยพยาบาลวิชาชีพในการให้คำแนะนำ คำปรึกษา ในการให้บริการแบบเรียลไทม์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ สร้างความอุ่นใจให้แก่ผู้รับบริการและญาติ
สนองตอบต่อพันธกิจของคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในการพัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์และการสาธารณสุขในลักษณะบูรณาการ สหวิทยาการเพื่อสร้างความเป็นเลิศวิชาการ แก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงการนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ และการสร้างทุนทางปัญญาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน อนุรักษ์ฟื้นฟูสืบสานและเผยแพร่ภูมิปัญญาการสร้างองค์ความรู้และทำความเข้าใจวัฒนธรรมวิถีชีวิตและสืบสานพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงมุ่งหวังให้วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นศูนย์กลางการศึกษาและวิจัยสู่ความเป็นเลิศด้านวิชาการและวิชาชีพเพื่อบริการมวลมนุษยชาติอย่างยั่งยืน ภายใต้ปรัชญา “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต”