วันพุธที่ 17 สิงหาคม 2565 คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ของประชาชน ตามแนวทางการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นประธานอนุกรรมการ และคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย นางพิมพา สุทินศักดิ์ ผู้แทนรองปลัดกระทรวงคมนาคมผู้นำกลุ่มขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศฯ นายธีธัช สุขสะอาด ผู้แทนประธานกรรมการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด นางอรนุช รุจิราวรรณ ผู้อำนวยการใหญ่สายงานการขาย บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) ผู้แทนประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการฯ รฟม. ผู้แทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายอัลวิน จี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นางสาวสุธาสินี ศุภศิริสินธุ์ ผู้แทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายพัฒนาการศึกษา สังคม และกีฬาที่ยั่งยืน กลุ่มเซ็นทรัล นายอธิปัตย์ บำรุง และนางดนุชา ยินดีพิธ ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อนุกรรมการและเลขานุการ เข้าร่วมประชุม สรุปผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ณ ห้องประชุม MC 232 ชั้น 3 อาคารสำนักงานราชวิยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาศูนย์การเรียนรู้และเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวัฒนธรรมแบบบูรณาการ มีแนวคิดที่จะจัดให้มีพื้นที่การเรียนรู้หรือพื้นที่การอ่านหนังสือภายในสถานีรถไฟฟ้าหรือสถานีขนส่งสาธารณะ รวมทั้งอาคารของภาครัฐ เพื่อให้เด็กและเยาวชนตลอดจนผู้ที่ประสงค์จะหาความรู้จากหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้มีพื้นที่ใช้บริการ ในรูปแบบการประสานความร่วมมือจากเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชนในการขอความสนับสนุนพื้นที่ องค์ความรู้และเนื้อหาสาระ รวมทั้งงบประมาณในการจัดทำศูนย์การเรียนรู้ฯ
จากความร่วมมือดังกล่าว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบกิจการรถไฟฟ้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่งได้ให้ความอนุเคราะห์พื้นที่ และการสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำโครงการฯ โดยในระยะแรกเริ่มนี้ ได้จัดทำศูนย์การเรียนรู้/ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์บนสถานีรถไฟฟ้าแล้วเสร็จและได้เปิดตัวนำร่องพร้อมกันสองจุด คือ จุดแรกเปิดตัวเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่สถานีรถไฟฟ้าสวนจตุจักร โดยความร่วมมือของ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด. (BEM). และจุดที่ 2 เปิดตัวศูนย์การเรียนรู้ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่สถานีร5ไฟฟ้า BTS สนามกีฬาแห่งชาติ ผ่านความร่วมมือกับ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) รวมทั้ง ได้มีการเปิดตัวบอร์ดอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ( Knowledge Board ) ซึ่งจัดโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ( OKMD ) โดยได้จัดวาง Knowledge Board ไว้บริการที่ อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และ จุด Coworking Space ชั้น 2 อาคารสำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สำหรับการดำเนินการในระยะถัดไป เป็นความร่วมมือระหว่างหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุน โดยคาดว่าการดำเนินงานจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานดังกล่าวต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยแล้ว