ปอดบวมคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร
โรคปอดบวม หรือ โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือโรคนิวโมเนีย (pneumonia) เป็นโรคติดเชื้อที่ปอด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza viruses), Respiratory syncytial virus (RSV), และ SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิด COVID-19 และเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อ “สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี” (Streptococcus pneumoniae) หรือเรียก นิวโมคอคคัส (Pneumococcus) และเชื้อไมโคพลาสมา (Mycoplasma pneumoniae) นอกจากนี้ยังเกิดจากการติดเชื้อโรคชนิดอื่นได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆเช่น การสัมผัสเชื้อ ความชุกของเชื้อในแต่ละสถานที่ และโรคประจำตัวหรือสภาพร่างกายของผู้ป่วย
สถิติจากทั่วโลกในปี 2019 พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวนมากกว่า 740,000 เสียชีวิตจากโรคปอดบวม ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น HIV มาลาเรีย หรือวัณโรค นอกจากนี้ในผู้สูงอายุจะพบว่ามีโรคปอดบวมได้บ่อยเช่นกัน โดยมักจะมีอาการรุนแรงและแย่ลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนมีอัตราการเสียชีวิตสูง
โรคปอดบวมเกิดขึ้นได้อย่างไร
โรคปอดบวมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยมักจะเกิดจากการหายใจเอาเชื้อที่ปนอยู่ในอากาศเข้าสู่ปอดโดยตรง หรือจากการสำลัก เช่นสำลักน้ำลาย อาหาร หรือสารคัดหลั่งในทางเดินอาหาร ลงสู่ปอด ทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อตามมา นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากการลุกลามของเชื้อที่อยู่ในอวัยวะใกล้กับปอด หรือติดเชื้อทางกระแสเลือด ซึ่งมักเกิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่อวัยวะอื่นมาก่อน แล้วเชื้อนั้นกระจายไปตามกระแสเลือดแล้วมาติดเชื้อที่ปอดในที่สุด
โรคปอดบวมมีอาการอย่างไร
โดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคปอดบวมจะมีอาการไอ หอบเหนื่อย หายใจเร็ว เจ็บหน้าอก โดยจะมีอาการอื่นร่วมด้วยได้ เช่น ไข้ เหงื่อออก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปอดบวมจากการติดเชื้อแบคทีเรียมักจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วร่วมกับไอมีเสมหะปริมาณมาก เสมหะสีเขียวหรือสีคล้ายสนิม มีไข้ และเจ็บหน้าอก ส่วนอาการจากการติดเชื้อไวรัสหรือไมโคพลาสมามักจะเกิดช้ากว่า โดยมักจะเกิดอาการ 2-3 วันหลังจากมีอาการคล้ายเป็นหวัด ในผู้ป่วยสูงอายุอาจจะมีอาการแสดงไม่ชัดเจน และอาจมาด้วยอาการอื่นๆ เช่น รู้สึกไม่สบาย เหนื่อยเพลีย มึนศีรษะ หลงลืม ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจจะมีภาวะขาดออกซิเจน ผู้ป่วยอาจจะมีอาการซึมลง หรือหมดสติในที่สุด
ใครคือผู้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคปอดบวม
โรคปอดบวมสามารถทำให้เกิดอาการน้อยจนถึงมากได้ในบุคคลทุกกลุ่มอายุ แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคปอดบวม ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขี้นไป ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ไตวายเรื้อรัง เบาหวาน พิษสุราเรื้อรัง ตับแข็ง โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยาที่กดภูมิคุ้มกันในร่างกาย
วินิจฉัยโรคปอดบวมได้อย่างไร
ในการวินิจฉัยโรคปอดบวม แพทย์มักจะเริ่มต้นด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย เช่น เอกซ์เรย์ปอด และอาจจะตรวจเลือด เสมหะ และปัสสาวะ เพื่อหาเชื้อที่เป็นสาเหตุของปอดบวม
โรคปอดบวมรักษาอย่างไร
การรักษาโรคปอดบวมขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ เช่นให้ยาปฏิชีวนะถ้าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจจะให้ยาต้านไวรัส ในปวดบวมที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่มียารักษาเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาขับเสมหะ ออกซิเจน หรือยาขยายหลอดลมในรายที่มีภาวะหลอดลมหดตัวร่วมด้วย รวมถึงการบำบัดรักษาทางระบบหายใจที่เหมาะสม เช่นการเคาะปอด การดูดเสมหะ การฝึกไอให้มีประสิทธิภาพ
โรคปอดบวมป้องกันได้หรือไม่ อย่างไร
ปัจจุบันมีวัคซีนหลายชนิดที่สามารถป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้เกิดปอดบวมได้ เช่นวัคซีน COVID-19, Haemophilus influenzae type b (Hib), ไข้หวัดใหญ่ (Influenza, flu), หัด (Measles), ไอกรน (Pertussis, whooping cough), นิวโมคอคคัส(Pneumococcus), และอีสุกอีใส (Varicella, chickenpox) โดยวัคซีนเหล่านี้ปลอดภัย มีผลข้างเคียงเล็กน้อยและหายภายใจเวลา 2-3 วัน
นอกเหนือจากคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนดังกล่าวในเด็กแล้ว ยังมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่เพื่อป้องกันโรคปอดบวม ได้แก่
– ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยลดการเกิดปอดบวมจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียที่สามารถเกิดตามหลังการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ
– ฉีดวัคซีนโรคไอกรน หากยังไม่เคยได้รับมาก่อน
– ฉีดวัคซีน COVID-19
– ฉีดวัคซีนนิวโมคอคคัสในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้น และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง
นอกจากนี้ยังมีมาตรการป้องกันอื่นๆที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อในทางเดินหายใจ เช่น หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วย การล้างมือเป็นประจำ ทำความสะอาดสิ่งของที่สัมผัสบ่อย ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม หยุดสูบบุหรี่ และเลื่ยงควันบุหรี่ ทำความสะอาดช่องปากและระมัดระวังเรื่องการสำลักขณะทานอาหาร โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ตลอดจนรักษาโรคประจำตัว เช่นโรคหอบหืด เบาหวาน หัวใจ ให้ดี
เอกสารอ้างอิง