๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจาก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๒ ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น ๒ อาคารสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวน ๗๑ คน เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในระดับปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพประยุกต์ ๑๔ คน สาขาเคมีชีวภาพ ๕ คน สาขาวิชาพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ๑๐ คน ระดับปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพประยุกต์ ๒๐ คน สาขาเคมีชีวภาพ ๑๒ คน และสาขาวิชาพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ๑๐ คน
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าวิจัย การศึกษา และบริการทางสุขภาพ ที่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงมีพระประสงค์ให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สืบสานพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ที่นำมาปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนพัฒนาการสาธารณสุขของประเทศ ยึดหลักปรัชญา “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต” โดยให้รวมสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ สถาบันการศึกษาระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ในโอกาสที่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชันษาครบ ๔ รอบ ให้เป็นสถาบันภายใต้สังกัดราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงได้เปลี่ยนสถานภาพจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็นสถาบันในกำกับของรัฐ สนองพระปณิธานในการเป็นสถาบันที่มีความเป็นเลิศทางการศึกษาโดยใช้การวิจัยนำ และเป็นศูนย์ความเป็นเลิศของเอเชียแปซิฟิกในการผลิตพัฒนาบุคลากรของประเทศ สร้างผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาที่มีความต้องการสูง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และการพัฒนาประเทศ โดยมีการจัดการเรียนการสอนเป็นหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก อาทิ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยดาร์ตมัธ วิทยาลัยการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค มหาวิทยาลัยมิชิแกน มหาวิทยาลัยฟลอริดา สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยอูเทร็คประเทศเนเธอแลนด์ มหาวิทยาลัยอาร์ฮุสราชอาณาจักรเดนมาร์ก และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และการแพทย์อิมพีเรียลสหราชอาณาจักร เป็นต้น โดยเปิดทำการสอนระดับบัณฑิตศึกษาใน ๓ สาขา คือ วิทยาศาสตร์ชีวภาพประยุกต์ (Applied Biological Sciences) เคมีชีวภาพ (Chemical Biology) และพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม (Environmental Toxicology) ซึ่งทุกสาขาเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษในสิ่งแวดล้อม การเกิดโรคจากสิ่งแวดล้อม และการพัฒนายาโมเลกุลขนาดเล็กและยาชีววัตถุเพื่อการรักษาและป้องกันโรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม โดยตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษสถาบันได้ผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูงที่มีคุณภาพมาแล้วกว่า ๒๐๐ คน เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ และขับเคลื่อนประเทศไปสู่การแข่งขันระดับสากล