ประเภทของทวารเทียมแบ่งได้หลายรูปแบบ อาทิเช่น
1.แบ่งตามวัตถุประสงค์ของการผ่าตัด มี 2 รูปแบบ ได้แก่
1.1 แบบชั่วคราว คือ การยกทวารเทียมเพื่อวัตถุประสงค์บางประการในการรักษา เป็นการยกแบบชั่วคราว เมื่อสิ้นสุดวัตถุประสงค์นั้นแล้ว สามารถผ่าตัดเพื่อปิดทวารเทียมได้ เหมาะกับผู้ป่วยที่ยังเก็บหูรูดทวารหนักได้
1.2 แบบถาวร คือ การผ่าตัดยกทวารเทียม เพื่อเปลี่ยนทางเดินให้อุจจาระออกมาที่ผนังหน้าท้องไปตลอด ศัลยแพทย์จะเลือกวิธีนี้ให้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดเพื่อเก็บหูรูดที่ก้น หรือใช้หูรูดที่ก้นได้อีก
2.แบ่งตามชนิดของลำไส้ที่นำมาเปิด มี 2 รูปแบบ ได้แก่
2.1 การเปิดบริเวณลำไส้เล็ก (Ileostomy) ศัลยแพทย์จะใช้ส่วนปลายของลำไส้เล็กมาเปิดเป็นทวารเทียม ตำแหน่งมักจะอยู่ฝั่งขวาของช่องท้อง ลักษณะของอุจจาระที่ออกมาจะมีลักษณะค่อนข้างเหลว มีน้ำเป็นส่วนประกอบมาก ดังนั้นทวารเทียมชนิดนี้จึงมีโอกาสที่จะสูญเสียสารน้ำและเกลือแร่ได้มากกว่าทวารเทียมลำไส้ใหญ่
2.2 การเปิดบริเวณลำไส้ใหญ่ (Colostomy) ศัลยแพทย์จะพิจารณาตำแหน่งเปิดลำไส้ใหญ่ตามตัวโรคและความเหมาะสม ส่วนใหญ่จะเปิดที่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนขวาง (Transverse colon) หรือลำไส้ใหญ่ส่วนคด (Sigmoid colon) ลักษณะของอุจจาระที่ออกจากทวารเทียมลำไส้ใหญ่จะเป็นก้อนเหมือนอุจจาระปกติ มีโอกาสเสียน้ำและเกลือแร่น้อยกว่า แต่มีปัญหากลิ่นและแก๊สมากกว่าแบบลำไส้เล็ก
3.แบ่งตามรูปแบบของการยกลำไส้ มี 2 รูปแบบ ได้แก่
3.1 ทวารเทียมแบบยกลำไส้ฝั่งต้นมาเปิด (End ostomy) คือ การตัดลำไส้ แล้วยกลำไส้ส่วนต้นขึ้นมาเพียงฝั่งเดียวเพื่อเปิดที่ผนังหน้าท้อง ส่วนลำไส้ส่วนปลายจะทำการเย็บปิดไป
3.2 ทวารเทียมแบบเป็นห่วงวง (Loop ostomy) คือ การนำลำไส้ยกขึ้นมาเปิดที่ผนังหน้าท้อง ตัดเปิดด้านบนลำไส้ให้เป็นท่อ แล้วเย็บเปิดแบ่งออกเป็นสองท่อ ท่อฝั่งต้นเป็นช่องทางออกของอุจจาระ ท่อฝั่งปลายเป็นช่องทางออกของสิ่งคัดหลั่งลำไส้
ชนิดของลำไส้ที่นำมาทำทวารเทียมจะเป็นแบบใด ชนิดใด และตำแหน่งใดนั้น ศัลยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมตามหลักการรักษาโรค และแจ้งรายละเอียดให้ผู้ป่วยทราบ เพื่อตัดสินใจเรื่องการรักษาร่วมกับผู้ป่วยก่อนทำการผ่าตัด