การรับประทานอาหาร
สามารถรับประทานอาหารได้ทุกประเภท แต่แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่ก่อให้เกิดแก๊สและกลิ่น ส่งผลให้ทวารเทียมของท่านมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้
อาหารที่ก่อให้เกิดแก๊ส ได้แก่ อาหารประเภทถั่ว เบียร์ น้ำอัดลม ผักจำพวก กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก เป็นต้น
อาหารที่ก่อให้เกิดกลิ่น ได้แก่ อาหารประเภทถั่ว เครื่องเทศ ผักจำพวก ชะอม สะตอ หัวหอม กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น
การอาบน้ำ
สามารถอาบน้ำได้ตามปกติโดยใช้ถุงพลาสติกหรือถุงซิปล็อคครอบถุงทวารเทียมอีกชั้นหนึ่ง จะใช้วิธีตักอาบหรืออาบจากฝักบัวก็ได้ หลังอาบน้ำให้ใช้ผ้าสะอากซับทุกส่วนของอุปกรณ์รองรับการขับถ่ายให้แห้ง สามารถล้างบริเวณรอบรูทวารเทียมด้วยสบู่อ่อนได้
การทำความสะอาดทวารเทียม
1.ให้ผู้ป่วยคิดว่าทวารเทียมคือก้นของเรา ดังนั้น สามารถทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด แล้วใช้ผ้านุ่มสะอาดเช็ดได้เลย 2.ควรเทอุจจาระออกจากถุงเมื่อมีปริมาณประมาณครึ่งถุง เพื่อไม่ให้ปริมาณอุจจาระถ่วงถุงรองรับของเสียมากจนเกินไป จนอาจทำให้ถุงครอบทวารเทียมเลื่อนหลุดออกจากตำแหน่ง
การนอน
แนะนำให้เทของเสียออกก่อนนอน หลีกเลี่ยงการนอนคว่ำเป็นระยะเวลานาน เพื่อลดการกดทับต่อทวารเทียมและถุงรองรับของเสีย
การแต่งกาย
แนะนำให้สวมเครื่องแต่งกายที่หลวมเล็กน้อย โดยให้ขอบกระโปรงหรือกางเกงอยู่ต่ำกว่าแนวทวารเทียม หลีกเลี่ยงการแต่งตัวที่มีการกดทับ หรือรัดเข็มขัดลงไปบนทวารเทียม เพื่อลดการเสียดสีกับถุงรองรับของเสีย แนะนำให้ใช้กางเกงในที่มีขอบเอวอยู่ใต้ถุงรองรับสิ่งขับถ่าย
ในปัจจุบันมีเข็มขัดประคองทวารเทียมออกจำหน่าย เพื่อช่วยกระชับถุงรองรับของเสีย ลดการแกว่งเหวี่ยงของทวารเทียม ช่วยอำพรางถุงหน้าท้องจากเสื้อผ้า และทำให้ท่านแต่งกายได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
การออกกำลังกาย
หลังผ่าตัดประมาณ 4-6 สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถเล่นกีฬาได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงกีฬาประเภทที่เพิ่มแรงดันภายในช่องท้อง เช่น ยกน้ำหนัก เพื่อป้องกันการเกิดไส้เลื่อนทวารเทียม
การทำงาน
สามารถทำงานได้ตามปกติ ในทุกอาชีพ
การเดินทาง
สามารถเดินทางไกลได้ เพียงแค่เตรียมอุปกรณ์ถุงรองรับสำรองติดตัวไปด้วย เพื่อให้พร้อมใช้งานเมื่อมีความจำเป็น แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ถุงปลายปิดเมื่อไม่แน่ใจเรื่องความสะดวกของห้องน้ำ ใช้กระดาษเปียกเช็ดทำความสะอาดได้เพื่อความสะดวก
การมีเพศสัมพันธ์
การมีทวารเทียม ไม่ได้ลดความต้องการทางเพศ ท่านสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ โดยระบายอุจจาระออกจากถุงรองรับก่อนการมีเพศสัมพันธ์ และเพิ่มความระมัดระวังในบางท่าทางที่อาจจะกระทบกับทวารเทียม ท่านสามารถมีบุตรได้ โดยปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์
อาการผิดปกติของทวารเทียมที่ควรมาพบแพทย์
1.ลำไส้ที่ยกมาเปิดทวารเทียมยื่น หรือไหลออกมามากกว่าปกติ
2.ทวารเทียมหดรั้งลงไปในช่องท้อง
3.สีทวารเทียมซีด ดำคล้ำผิดปกติ
4.มีเลือดออกจากลำไส้ที่ยกมาเปิดทวารเทียม
5.ปวดท้อง ท้องอืดตึง ร่วมกับไม่มีลมหรืออุจจาระออกมาจากทวารเทียมเลย
ข้อควรระวังบางประการสำหรับทวารเทียมชนิดลำไส้เล็ก
1.รูเปิดทวารเทียมจะมีขนาดเล็ก ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงในช่วง 1 เดือนแรก เพื่อป้องกันรูเปิดทวารเทียมอุดตัน
2.อาจจะมีอุจจาระออกมากในช่วง 1-2 เดือนแรก ควรจดบันทึกปริมาณอุจจาระที่ออกมา รับประทานน้ำ และเกลือแร่เพื่อชดเชยให้เพียงพอ เพื่อป้องกันสภาวะขาดสารน้ำและเกลือแร่ ถ้าพบว่าปริมาณอุจจาระออกมากกว่า 1500 มิลลิลิตรต่อวัน ควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ทวารเทียมเป็นการรักษารูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งน่ากลัว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะทำให้ท่านได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำได้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยทุกท่าน สามารถใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับทวารเทียมได้ตามปกติ