1 ตุลาคม 2561 : ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ทรงงานทางวิชาการและทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์วิจัยโรคมะเร็ง สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ เมืองไฮเดลแบร์ก

วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.โยเซฟ พุกตา ผู้อำนวยการด้านบริหารศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ ศาสตราจารย์ นพ.ฮารัล ซัวเฮาเซน อดีตผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พร้อมด้วยผู้บริหารเฝ้ารับเสด็จ

ศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นศูนย์วิจัยทางชีวการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้รับการก่อตั้งในปี ค.ศ.1964 เพื่อทำการค้นคว้าวิจัย และพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยและรักษาใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งรอดชีวิตได้ดีขึ้น เป็นสถาบันที่มีความก้าวหน้าอย่างสูงด้านการวิจัยและพัฒนาวิธีการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็ง โดยมีการศึกษาหากลไกพื้นฐานของโรคมะเร็ง รวมทั้งค้นหาสาเหตุและชี้ให้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคดังกล่าว การตรวจพบโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกๆ ก่อนที่จะลุกลาม รวมทั้งเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคมะเร็งแก่ผู้ป่วยและบุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพต่อไป

สำหรับ ศาสตราจารย์ นพ.ฮารัล ซัวเฮาเซน อดีตผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้ที่ได้รับรางวัลพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2548 และได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ในปี พ.ศ. 2551 จากการค้นพบไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูกในสตรี นำไปสู่ความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนต้านไวรัส ที่สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ในสตรีทั่วโลก จากนั้นทรงรับฟังการบรรยายการดำเนินงานของศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จาก ศาสตราจารย์ ดร.โยเซฟ พุกตา ผู้อำนวยการด้านบริหาร

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ นพ.ฮารัล ซัวเฮาเซน กราบทูลว่ารู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จมาทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี อีกวาระหนึ่ง โดยครั้งนี้เป็นการขยายความร่วมมือด้านการวิจัย การศึกษา และการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร ให้ครอบคลุมถึงสถาบันที่ทรงจัดตั้งขึ้นใหม่ คือ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งทรงมุ่งมั่นให้เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ ในสาขาที่ขาดแคลนให้กับประเทศไทย รวมทั้งค้นคว้าวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย พร้อมกันนี้ทรงรับฟังการบรรยายการดำเนินงานด้านชีวสารสนเทศประยุกต์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.เบเนดิค โบรส์ หัวหน้าภาควิชาชีวสารสนเทศประยุกต์ เกี่ยวกับการพัฒนาวิธีและขั้นตอนในการวิเคราะห์และวินิจฉัยข้อมูลระดับโมเลกุลต่างๆ ที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคมะเร็ง หรือปัจจัยทำนายโรค รวมไปถึงการพัฒนาระบบในการนำข้อมูลระดับโมเลกุล มาประกอบการพิจารณาเลือกการรักษาที่จำเพาะเจาะจงให้กับผู้ป่วยมะเร็งแต่ละคน โดยศูนย์วิจัยฯ สามารถพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ ที่เพิ่มความสามารถในการศึกษาข้อมูลระดับโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า (Big Genomics Data) ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และรวดเร็ว ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวสอดคล้องกับการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ของคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกลในการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขาวิชาชีพ ให้มีความรู้ความสามารถเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาโดยมีการวิจัยเป็นตัวนำ