1 ธันวาคม 2560 : ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จทรงเปิดอาคารศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ ใน 3 โซนการให้บริการ ได้แก่ ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ และห้องปฏิบัติการเอ็ม อาร์ ไอ โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้จัดสร้างอาคารดังกล่าวบนพื้นที่ 17 ไร่ ตั้งอยู่ภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ เพื่อขยายการให้บริการของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ในส่วนของอาคารผู้ป่วยทั่วไป (OPD) และผู้ป่วยฉุกเฉิน (ER) เพื่อสนองพระปณิธานอันแน่วแน่ที่ทรงอยากให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ขยายการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมทุกโรค ไม่ใช่แต่เพียงโรคมะเร็งแต่เพียงอย่างเดียว และเป็นที่พึ่งพิงให้กับประชาชนคนไทยโดยเฉพาะผู้ป่วยยากไร้และด้อยโอกาสให้ได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นโรงพยาบาลขนาด 50 เตียง ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคทั่วไป และมีบริการในส่วนของศูนย์หัวใจและหลอดเลือดแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ การรักษาโรคหัวใจด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด ด้วยเครื่องเอกซเรย์ตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดชนิดระนาบเดียว เครื่องแรกที่เปิดให้บริการในประเทศไทยและในอาเซียน โดยเป็นเครื่องมือที่มีความทันสมัยมากที่สุดในปัจจุบันที่ใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยให้การตรวจรักษาของแพทย์สามารถทำได้รวดเร็วและแม่นยำ ลดปริมาณรังสี และสามารถสร้างภาพแผนที่นำทางของหลอดเลือดหัวใจหรือDynamic Coronary Roadmap โดนไม่ต้องฉีดสีซ้ำ และยังช่วยลดปริมาณรังสีซึ่งมีความปลอดภัดต่อแพทย์และผู้ป่วยมากขึ้น ตลอดจนการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ การส่งเสริมดูแลเชิงป้องกันด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางสหสาขาวิชาชีพ และการดูแลทุกสถานการณ์หัวใจฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังให้บริการตรวจรักษาด้วยศูนย์เฉพาะทางด้านอื่นๆ ได้แก่ ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ศูนย์เต้านม คลินิกอายุรกรรมทั่วไป คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด และศูนย์รังสีวินิจฉัยที่ให้บริการตรวจด้วยเครื่องมือทางรังสีที่ทันสมัยชนิดต่างๆโดยพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบแก่ประชาชนในวันที่ 8 มกราคม 2561 นี้
ภายในอาคารศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติยังได้จัดแบ่งออกเป็นโซนการศึกษาวิจัยของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ด้วยส่วนหนึ่ง โดยมีห้องปฏิบัติการเอ็ม อาร์ ไอ ห้องจำลองการทำงานการตรวจวินิจฉัยเอ็มอาร์ไอเพื่อใช้สำหรับการศึกษาวิจัย และโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ (Sonographer School) แห่งแรกในประเทศไทย โดยหลักสูตรดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งผลิตนักอัลตราซาวด์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสิทธิภาพให้มีจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการเสริมการบริการทางการแพทย์ และยกระดับมาตรฐานการบริการและวิชาการทางอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ของประเทศไทย ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการในการเข้ารับบริการได้อย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง โดยได้รับความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรระหว่างวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับทาง Monash University จากประเทศออสเตรเลีย