กรุงเทพฯ 23 พฤษภาคม 2566 : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ จัดแคมเปญร่วมส่งสารรณรงค์สร้างความตระหนักรู้แก่สตรีไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพภายใต้แนวคิด “ปวดท้องน้อย” พูดสิ พูดได้ สัญญาณเตือนที่ต้องระวังโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนแห่งการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงอาการ “ปวดท้องน้อย” MAY is Pelvic Pain Awareness Month โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยานรีเวช หัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และแพทย์หญิงกตัญญุตา นาคปลัด แพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขึ้นเวทีเสวนา พร้อมด้วยคุณต้นหอม-ศกุนตลา เทียนไพโรจน์ พิธีกร-นักแสดงสาวสวยมากความสามารถมาร่วมรณรงค์ตอกย้ำสารของแคมเปญในฐานะผู้หญิงรักสุขภาพและมาร่วมแชร์ประสบการณ์บนเวที ดำเนินรายการโดย คุณได๋ ไดอาน่า จงจินตนาการ พร้อมกันนี้ ยังเปิดโอกาสให้สตรีที่มีอาการปวดท้องน้อยที่ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 40 ท่านได้รับบริการประเมินอาการตรวจคัดกรองความเสี่ยงด้วยวิธีอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างจากทีมบุคลากรของโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พร้อมรับคำปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยกิจกรรมจัดขึ้น ณ ชั้น 1 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ 400 เตียง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร และถ่ายทอดสดผ่านทางช่อง Youtube CRA CHULABHORN Channel และ Facebook โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยานรีเวช หัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “ปวดท้องน้อย พูดสิ พูดได้ สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงต้องระวัง “เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่” คือ สารรณรงค์กระตุ้นเตือนในเดือนพฤษภาคม MAY is Pelvic Pain Awareness Month ซึ่งปีนี้เป็นปีที่สองแล้วที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ออกมากระตุ้นเตือนสตรีไทยเพื่อให้เล็งเห็นความสำคัญของอาการปวดท้องน้อยแล้วอย่าปล่อยผ่าน แนะนำว่าควรรีบเข้ามาปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรเก็บอาการปวดท้องน้อยที่เกิดขึ้นเงียบไว้คนเดียวครับ เพราะการปวดท้องน้อยในกลุ่มผู้หญิง อาจจะไม่ใช่เรื่องปกติอย่างที่เราคิด แต่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งเป็นโรคที่ผู้หญิงหลายคนมักมองข้าม และอาการปวดท้องน้อย ก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งสัญญาณเตือนให้ได้ระวังจากภัยร้ายที่อาจแสดงออกมาในรูปแบบของโรคร้ายชนิดอื่น ๆ ได้ด้วยครับ ผู้หญิงหลายคนมักมองข้าม ยิ่งในช่วงเวลาที่มีประจำเดือน ก็อาจจะคิดว่าการปวดท้องน้อยเป็นเรื่องปกติ ซึ่งความจริงอาจเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างก็ได้ ฉะนั้นการปวดท้องน้อยควรเป็นอาการที่ไม่ควรปล่อยผ่านอีกต่อไปครับ กิจกรรมรณรงค์นี้เราก็อยากเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญในการเป็นผู้รณรงค์ให้สาว ๆ ทุกคนตระหนัก และใส่ใจในโรคชนิดนี้ และโรคอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ให้มากขึ้นครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ ได้อธิบายถึงโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ไว้ว่า คือ ภาวะที่มีการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไปนอกโพรงมดลูก โดยอาจแทรกตัวอยู่ในผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก เยื่อบุช่องท้อง รังไข่ ผนังลำไส้ และผนังกระเพาะปัสสาวะ หรือบางครั้งอาจกระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด เมื่อเยื่อบุเหล่านี้ไปเจริญเติบโตอยู่ผิดที่ ทำให้มีเลือดสีแดงคล้ำหรือสีดำข้นคล้ายช็อกโกแลตขังอยู่ตามอวัยวะดังกล่าว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอาการผิดปกติต่าง ๆ โดยเฉพาะอาการปวดท้องน้อยที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนี้ ตำแหน่งที่พบบ่อยส่วนใหญ่มักพบบริเวณอุ้งเชิงกราน ได้แก่ รังไข่ ท่อนำไข่ เยื่อบุช่องท้องทางด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้างของมดลูกรวมถึงอวัยวะใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ ยังพบได้ที่ท่อไต ลำไส้เล็ก ปอด สมองและบริเวณผิวหนัง หรือแผลผ่าตัด พบได้ประมาณ 1 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์และอาจสูงถึง 5 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีอาการปวดประจำเดือน โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดประจำเดือนทำให้เราต้องทนทุกข์ทรมานจากการปวด ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง บางครั้งส่งผลทางด้านการงานและสังคม สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ได้สูง มักมีความสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน เช่น สตรีที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนเพื่อน ๆ สตรีที่เข้าสู่ภาวะวัยหมดประจำเดือน (วัยทอง) ช้ากว่าปกติ สตรีที่มีประจำเดือนออกมากและออกนานหลายวัน สตรีที่รอบเดือนมาถี่หรือระยะห่างระหว่างที่เป็นประจำเดือนแต่ละรอบสั้น สตรีที่มีมารดา พี่สาวหรือน้องสาวเป็นโรคนี้ สตรีที่มีลูกคนแรกตอนอายุมาก ก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟมากๆ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่สูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีทั้งแบบที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ โดยการแสดงอาการที่สงสัยว่าจะเป็นก็คืออาการปวดท้องน้อยในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่
- อาการปวดประจำเดือน ซึ่งเป็นอาการส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์ โดยมักจะมีอาการปวดนำมาก่อน 2-3 วันก่อนที่ประจำเดือนมา ในช่วงที่กำลังมีประจำเดือนอาการปวดจะมากขึ้นและจะรุนแรงมากขึ้นในรอบเดือนถัด ๆ ไป
- อาการปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยลักษณะอาการปวดจะปวดเจ็บลึก ๆ ในช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์
- อาการปวดท้องน้อยเรื้อรังนานกว่า 6 เดือน
นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยงโรคยังครอบคลุมกลุ่มสตรีที่มีบุตรยาก คลำได้ก้อนที่ท้องน้อย เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ส่วนน้อยอาจมีอาการอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับตำแหน่งของโรค เช่น สตรีที่มีตัวโรคอยู่ที่กระเพาะปัสสาวะ อาจมีอาการปวดเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อยขึ้นหรือปัสสาวะเป็นเลือดช่วงที่เป็นประจำเดือน ในสตรีที่มีตัวโรคที่ลำไล้ใหญ่ส่วนปลายอาจมีอาการถ่ายลำบาก ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ หรือถ่ายเป็นเลือด โดยเฉพาะช่วงที่เป็นประจำเดือน บางคนมีอาการไอเป็นเลือดในช่วงเป็นประจำเดือน เนื่องจากมีเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญที่ปอด เป็นต้น
โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นี้อาจทำให้เกิดปัญหาภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากโรคนี้มักจะทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน บางรายเป็นมากจนทำให้เกิดการอุดตันของท่อนำไข่ทั้งสองข้างทำให้ไม่สามารถมีบุตรเองได้โดยวิธีธรรมชาติ อาจจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด หรือต้องใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว แพทย์หญิงกตัญญุตา นาคปลัดแพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “ในกลุ่มของผู้ที่มีภาวะการมีบุตรยาก พบว่าเกี่ยวข้องกับโรคเยื่อบุโพรงมดลูก 40-50% เพราะจะมีผลทำให้โครงสร้างของอวัยวะสืบพันธุ์ทำงานผิดปกติ เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีโรค ทำให้ท่อนำไข่ตันและทำให้คุณภาพรังไข่ลดลง เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้หายขาดได้โดยธรรมชาติของโรค แต่จะดีขึ้นเองเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเนื่องจากวัยหมดประจำเดือนไม่มีฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) ในการกระตุ้นตัวโรคอีก ส่วนจุดประสงค์ของการรักษาในปัจจุบัน ก็เพื่อเป็นการบรรเทาอาการของโรคนี้ โดยเน้นการรักษาตามอาการ เป็นหลัก การรักษาแบ่งออกได้เป็น 3 วิธีใหญ่ๆ ได้แก่ 1.การรักษาด้วยยา 2.การรักษาด้วยการผ่าตัด และ 3.การรักษาร่วมกันระหว่างการให้ยาและการผ่าตัด ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคนี้ที่ได้ผลแน่นอน ดังนั้นหากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะอาการปวดประจำเดือนหรือปวดบริเวรท้องน้อย ควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อการวางแผนในการดูแลรักษาในอนาคตต่อไป”
ด้านสาวสวยมากความสามารถอย่าง ต้นหอม ศกุนตลา เทียนไพโรจน์ ที่ได้มาร่วมส่งสารรณรงค์ถึงสาว ๆ ในแคมเปญ ปวดท้องน้อย พูดสิ พูดได้ ได้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับอาการปวดท้องน้อย พร้อมตอกย้ำให้ผู้หญิงทุกคนตระหนักและใส่ใจสุขภาพ หากพบอาการผิดปกติ หรือมีอาการตามที่เล่ามาข้างต้น ขอให้พูดคุยปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้มีแนวทางในการรักษาและวางแผนได้ทันท่วงที “ เพราะสุขภาพที่ดีเป็นต้นทุนชีวิตที่สำคัญในการขับเคลื่อนนำพาเราสู่ความสุขและความสำเร็จต่าง ๆ ในชีวิตได้ ” หากคุณสุภาพสตรีมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง แนะนำให้เข้ารับการปรึกษากับสูตินรีแพทย์และเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ สามารถนัดหมายเพื่อปรึกษาแพทย์กับทางศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ชั้น 9 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ ผ่านทาง LINE Official @chulabhornhospital เลือกเมนู ศูนย์การรักษา > เลือก สุขภาพสตรี โดยเปิดให้บริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 20.00 น. และ เสาร์ – อาทิตย์ เวลา 08.00 – 16.00 น. รวมทั้งสามารถติดตามข่าวสารบทความกิจกรรมสุขภาพจากทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ทางเว็บไซต์ www.chulabhornchannel.com