29 กรกฎาคม 2567 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉิน ร่วมกันเปิดประชุมวิชาการนานาชาติด้านการแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉิน ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด The First CRA Disaster and Emergency Management Conference: “Time To Move Forward” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลทางวิชาการด้านการแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉิน และเสริมสร้างความรู้เรื่องการสื่อสารเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติ โดยการประชุมฯ ครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความตื่นตัวของประเทศไทยในการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบระดับชาติและนานาชาติ ได้แก่ ภัยสึนามิในปี 2547 และการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562 และเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ เช่น ไฟไหม้กลางกรุง น้ำท่วม มลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ทำให้หน่วยงานทั้งหลายเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบการจัดการภัยพิบัติที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้ ทั้งนี้ ผู้ร่วมงานประกอบด้วยสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ ห้องแกรนด์บอลรูมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
ศูนย์แพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ได้รับพระราชทานนามโดย ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เมื่อปี พ.ศ. 2560 โดยมีเป้าหมายในการเป็น “ศูนย์ฝึกอบรมด้านการแพทย์ภัยพิบัติแห่งภูมิภาคอาเซียน” เพื่อสร้างเสริมองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การแข่งขันทักษะการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินและการตอบโต้ภัยพิบัติ (CDEM Rally) ซึ่งโรงพยาบาลทั่วประเทศได้ส่งทีมสหวิชาชีพมากกว่า 10 ทีม มาชิงรางวัลกันอย่างคึกคัก นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยด้านการแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินที่น่าสนใจ โดยบทคัดย่อทั้งหมดที่ส่งมาจะได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารระดับโลก การประชุมฯ ได้รับเกียรติจากวิทยากรทรงคุณวุฒิระดับนานาชาติด้านการแพทย์ฉุกเฉินและการจัดการภัยพิบัติทั่วโลกหลากหลายประเทศ จำนวน 7 ท่าน โดยรายชื่อดังนี้ 1.Associate Professor Amir Khorram-Manesh, M.D, Kingdom of Sweden, 2. Associate Professor Lesley Gray,Kingdom of New Zealand, 3.Professor Shinichi Egawa, M.D.,Japan ,4.Dr. Mohd. Zaki Fadzil bin Senek, Malaysia 5. Associate Professor Krzysztof Goniewicz, Poland 6. Assistant Professor Ali Haedar, M.D., Republik Indonesia 7. Associate Professor Dr. April Bautista Llaneta, MD, MOH, FPCEM, Republic of the Philippines เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการจัดการภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ ยกระดับความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการแพทย์ภัยพิบัติในระดับนานาชาติ และคาดว่าจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างยั่งยืนในอนาคต