พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๖

วันจันทร์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปยังอาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ ในการมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๖ โดยมีพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อุปนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รอรับผู้แทนพระองค์ โดยในปีการศึกษา ๒๕๖๖ นี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีผู้สำเร็จการศึกษาที่เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร รวมจำนวน ๓๓๓ คน ประกอบด้วย วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์ จำนวน ๖ คน และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ จำนวน ๓๓ คน วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต จำนวน ๗๗ คน และหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต (สำหรับผู้สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น) จำนวน ๘๘ คน และ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสัทภาพการแพทย์ จำนวน ๕ คน หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค จำนวน ๕๘ คน หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ จำนวน ๓๒ คน หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ (ต่อเนื่อง) จำนวน ๓๔ คน

อนึ่งตามที่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้พระราชทานพระวินิจฉัยในการจัดให้มีรางวัลสำหรับบัณฑิตราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่มีผลคะแนนเฉลี่ยสูงสุดของแต่ละหลักสูตร โดยพระราชทานนามว่ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยในปีการศึกษา ๒๕๖๖ นี้ มีจำนวนบัณฑิตที่ได้รับพระราชทานรางวัลดังกล่าว จำนวน ๖ คน โอกาสนี้ ผู้แทนพระองค์มอบโอวาทความตอนหนึ่งว่า “ ปริญญาบัตรที่บัณฑิตได้รับในวันนี้ เป็นสิ่งที่มีความหมายและมีความสำคัญ เพราะเป็นเครื่องรับรองวิทยฐานะ ว่าแต่ละคนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ในสาขาวิชาที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาบัณฑิตทุกคนจึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ที่จะต้องประพฤติตน ปฏิบัติงานให้สมกับวิทยฐานะ ด้วยการนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและประเทศชาติ การจะทำให้ได้ดังกล่าวนั้น ต้องอาศัยคุณสมบัติต่าง ๆ เป็นเครื่องประกอบส่งเสริมความรู้ความสามารถอีกหลายประการ คุณสมบัติที่สำคัญ ได้แก่ ความตั้งใจแน่วแน่ ความขยันหมั่นเพียร ความอดทนเข้มแข็ง ความมีสติรู้ตัว ความละเอียดรอบคอบ และความชื่อสัตย์สุจริต ซึ่งจะเกื้อกูลให้แต่ละคน นำความรู้ความสามารถไปใช้ได้อย่างเหมาะสมถูกต้อง โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหา จึงขอให้บัณฑิตทุกคน หมั่นสร้างสมคุณสมบัติทั้งปวงนั้น ให้เจริญงอกงาม จะได้สามารถดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพการงาน ให้บรรลุถึงความสำเร็จและความเจริญมั่นคงได้ สมคุณค่าและความหมายของปริญญาบัตรที่ได้รับอย่างแท้จริง ”

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ จัดตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ จากพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงมีพระปณิธานให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน มุ่งสร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาที่ขาดแคลนและมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมไทยและนานาชาติ ทั้งด้านการแพทย์ การสาธารณสุข วิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยี พร้อมทั้งบูรณาการงานวิจัยและบริการวิชาการผสมผสานอยู่ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อมุ่งให้เกิดผลลัพธ์ของบัณฑิตในทุกมิติที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมทั้งเป็นสถาบันที่ให้บริการทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานสากลแก่ประชาชน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการนำวิทยาการขั้นสูงและนวัตกรรมไปใช้ในการดูแลคนไทยให้สามารถเข้าถึงสุขภาวะที่ดี