ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงนาม MOU ทางด้านวิชาการผสานความร่วมมือมุ่งสร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และงานวิจัยที่มีศักยภาพสูงสานต่อพระปณิธาน ภายใต้ปรัชญา “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต”

วันจันทร์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๗ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการมุ่งผลิตบัณฑิตและบุคลากรที่มีศักยภาพด้านวิชาชีพและวิจัยทางเภสัชศาสตร์ โดยมี ดร.ภก.วัชระ กาญจนกวินกุล ผู้อำนวยการโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้แทนและร่วมลงนามเป็นสักขีพยานในพิธี พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.อภิชาต โสภาแดง คณบดีวิทยาลัยพหุวิทยาการและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.ภก.สุพัฒน์ จิรานุสรณ์กุล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมลงนามและเป็นสักขีพยาน ในงานวันสถาปนาวิทยาลัยพหุวิทยาการและสหวิทยาการ (Multidisciplinary and Interdisciplinary School : MIdS) ครบรอบ ๑ ปี ณ ห้องประชุม ๒๐๒-๒ อาคาร ๒ วิทยาลัยพหุวิทยาการและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งภายในงานมีการจัดพิธีทำบุญเนื่องในวันสถาปนาครบรอบ ๑ ปี งานเปิดตัว MIdS (Open House) ของแต่ละสาขาวิชา พิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง วิทยาลัยพหุวิทยาการและสหวิทยาการ และเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ จำนวน ๘ หน่วยงาน การมอบรางวัลให้กับส่วนงานที่ร่วมบริหารจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรพหุวิทยาการและสหวิทยาการ และการบรรยายพิเศษในหัวข้อ Thailand’s development and circular values for all โดย คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต กรรมการอำนวยการและที่ปรึกษาสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พร้อมกันนี้ โรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ เพื่อเผยแพร่ผลงานของหน่วยงานให้เป็นที่รู้จัก โดยได้จัดแสดงตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัย และประชาสัมพันธ์งานบริการศูนย์ปฏิบัติการทางเภสัชกรรม ซึ่งเปิดโอกาสให้นักวิจัยและผู้ประกอบการเข้าถึงเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเภสัชกรรมชั้นสูง เป็นการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ และอุตสาหกรรมยาของประเทศ

สำหรับการลงนามความร่วมมือระหว่าง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งนี้ เพื่อยืนยันเจตจำนงค์ความร่วมมือระหว่างทั้งสองหน่วยงาน และบูรณาการความร่วมมือด้านการผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตที่มีศักยภาพด้านวิชาชีพและวิจัย ที่มีความรู้และทักษะ คิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และเน้นความเชี่ยวชาญการวิจัยทางเภสัชศาสตร์ และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสายวิชาการในการพัฒนางานวิจัยด้านเภสัชกรรม ด้านการพัฒนาสูตรตำรับ การพัฒนาสารช่วย วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง/เวชสำอาง และงานวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพ นำไปสู่การต่อยอดหรือประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน สังคม และประเทศชาติ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจและพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ทรงจัดตั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน การวิจัยขั้นสูงที่จะสร้างบัณฑิต และพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาที่ขาดแคลนและมีความจำเป็นต่อสังคมไทยและนานาชาติ พร้อมทั้งให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการนำวิทยาการขั้นสูงและนวัตกรรมไปใช้ในการดูแลคนไทยให้สามารถเข้าถึงสุขภาวะที่ดีอย่างเท่าเทียม ภายใต้ปรัชญา “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต”

ด้วยพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงตระหนักถึงความยากลำบากของประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงเภสัชภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงสำหรับรักษาโรคมะเร็ง ทรงมีพระดำริให้จัดตั้ง “โรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดําริ” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการวิจัย พัฒนา และการผลิตเภสัชภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งใช้ในประเทศ ให้มีความต่อเนื่องสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เชื่อมโยงความรู้และประสานความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการผลิตเภสัชภัณฑ์กับนานาชาติ สร้างบุคลากร และองค์ความรู้ด้านเภสัชอุตสาหการ เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมยาเป็นกลจักรใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย และช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้ายารักษาโรคมะเร็ง เสริมความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย สร้างโอกาสในการเข้าถึงการรักษาประสิทธิภาพสูงแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นำมาซึ่งประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจและประเทศชาติ