วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานผ้าพระกฐิน ให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เชิญไปทอดถวาย ณ วัดหนองน้ำขุ่น ต.บ้านใหม่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล บุคลากรราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมทั้งพุทธศาสนิกชน ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมในพิธี โอกาสนี้ ประธานในพิธีได้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายความเคารพหน้าพระรูป สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และประกอบพิธีถวายผ้าพระกฐิน ณ ศาลาการเปรียญวัดหนองน้ำขุ่น ต.บ้านใหม่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ตามลำดับ
วัดหนองน้ำขุ่น เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ บ้านหนองน้ำขุ่น ตำบลบ้านใหม่ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ มีเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๒ งาน ๒๗ ตารางวา ปัจจุบันมีพระใบฎีกาพีระศักดิ์ ธีรสกฺโก (ธี-ระ-สัก-โก) เป็นเจ้าอาวาส ทางวัดได้ดำเนินการก่อสร้างเสนาสนะต่าง ๆ อาทิ พระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาบำเพ็ญกุศล และศาลาการเปรียญซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโดยการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานครั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป ได้ร่วมทำบุญถวายจตุปัจจัย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน ๑,๐๙๓,๑๐๕.๖๖ บาท ซึ่งจะได้นำไปสมทบทุนในการบูรณะปฏิสังขรณ์ สมทบทุนจัดสร้างศาลาการเปรียญให้แก่วัด เพื่อเป็นประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนาต่อไป สำหรับประเพณีทำบุญทอดกฐิน ถือเป็นประเพณีที่มีมาช้านานตั้งแต่สมัยพุทธกาล การทอดกฐินเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ผู้ที่มีโอกาสทอดกฐินควรตั้งใจถวายด้วยจิตศรัทธา โดยเชื่อกันว่าจะทำให้ผู้ทอดกฐินได้รับความสุขความเจริญในชีวิต ทั้งนี้ในแต่ละปีกำหนดให้มีการจัดพิธีทำบุญทอดกฐินขึ้นภายใน ๑ เดือนหลังจากประเพณีออกพรรษา โดยแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้ปีละ ๑ ครั้ง การทอดกฐินนับเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีทำบุญทอดกฐินอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ด้วยเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างช้านาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอุปถัมภ์พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสให้ได้รับอานิสงส์ตามพระวินัย และเป็นทุนในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม เป็นการรวมพลังแห่งความสามัคคีของพุทธศาสนิกชนทั้งทางกาย วาจาและใจ ในการร่วมสร้างบุญกุศล สร้างความสุขของการอยู่ร่วมกันในสังคม อีกทั้ง ยังเป็นการจรรโลงส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เจริญและดำรงคงอยู่อย่างวัฒนาสถาพร สืบไป