คนไทยจริง ๆ แล้วเป็นไวรัสตับอักเสบ B สูงถึง 7-8 ล้านคน หรือเท่ากับ 1 ใน 10 คน โดยส่วนใหญ่จะเป็นตับอักเสบเรื้อรังโดยที่ไม่มีอาการอะไรเลย นอกจากว่าตรวจเลือดเพื่อเช็คดู ไม่ว่าจะเป็นตรวจสุขภาพ ตรวจก่อนทำงาน ก่อนผ่าตัด ไม่เช่นนั้นจะไม่รู้ตัวเลย ที่แย่ไปกว่านี้ มากกว่า 50% ของคนไทยที่เป็นตับอักเสบบีเรื้อรัง ไม่รู้ว่าเป็น หรือรู้แต่ไม่พบแพทย์เป็นประจำ ทำให้บ่อยครั้งมาพบทีหลังว่าเป็นตับแข็งแล้วหรือเป็นมะเร็งตับในระยะหลัง ๆ
ไวรัสตับอักเสบบีมีหลายสภาวะในคนเรา หลาย ๆ คนจะอยู่ในช่วงพาหะ คือไม่มีการทำลายตับ เพราะภูมิคุ้มกันของเราควบคุมไวรัสได้ดี แต่มีหลาย ๆ คนที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งไม่มีอาการ และจะมีอาการต่อเมื่อตับแข็งแล้ว และสายเกินไป นอกจากนี้ไวรัสตับอักเสบบีเองเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้ทุกคนที่เป็น ไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งตับ รวมทั้งคนที่เป็นพาหะด้วย ที่สำคัญไปกว่านั้น คนที่เป็นมะเร็งตับส่วนมากจะไม่มีอาการ ซึ่งโดยปกติแล้ว มะเร็งตับก้อนเล็ก ๆ ส่วนใหญ่จะรักษาไม่ยากและหายขาด แต่กว่าคนไข้จะมีอาการเช่น ปวดท้อง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ก็จะพบว่าก้อนมะเร็งตับขนาดใหญ่มากและรักษายาก และเสียชีวิตลงจากมะเร็งตับ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ และรักษาได้ ด้วยการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นประจำ
เชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีโอกาสแพร่กระจายจากผู้ที่ติดเชื้อได้หลายหลายวิธีได้แก่
- ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกขณะคลอด เป็นสาเหตุการติดเชื้อส่วนมากในประเทศไทย แต่ปัจจุบันการถ่ายทอดจากมารดาที่ติดเชื้อลดลงมาก เพราะบุตรที่คลอดออกมาจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ
- การสัมผัสน้ำคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น เลือด น้ำเหลือง
- จากการได้รับเลือด
- ทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน
- จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ รวมทั้ง การใช้เข็มสักตามตัวและการเจาะหูร่วมกันกับคนที่มีเชื้อ
โรคตับอักเสบจากไวรัสบี และมะเร็งตับ
ปัญหาหลักของไวรัสตับอักเสบบีคือในกลุ่มคนไข้ที่เป็นตับอักเสบบีระยะเรื้อรัง ซึ่งระยะเรื้อรังแบ่งผู้ป่วยได้เป็น 2 กลุ่มคือ
2.1 กลุ่มที่เป็นพาหะ คือ ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแฝงอยู่ในร่างกายโดยผู้ป่วยจะไม่มีอาการแต่ยังสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ถึงแม้ผลเลือดที่ใช้ตรวจการทำงานของตับอยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงควรตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีก่อนแต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์
2.2 กลุ่มที่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง คือ ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย และตรวจเลือดพบค่าการทำงานของตับผิดปกติโดยอาจจำเป็นต้องได้รับยารักษาไวรัสตับอักเสบบีอย่างต่อเนื่อง
ผู้ป่วยส่วนมากทั้งที่เป็นพาหะ และตับอักเสบเรื้อรังมักไม่มีอาการ โดยอาจมีอาการเมื่อเกิดภาวะตับแข็งเช่นอาการดีซ่าน ท้องมานหรือมะเร็งตับซึ่งเป็นผลที่ตามมาของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวตับอักเสบบีเองเป็นสารก่อมะเร็ง เพราะฉะนั้นคนไข้ตับอักเสบบีทุกคนนับว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งตับสูง ไม่ว่าจะเป็นพาหะ หรือ เป็นกลุ่มตับอักเสบก็ถือว่าเป็นกลุ่มความเสี่ยง จึงต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นประจำทุก 6 เดือน โดยที่แพทย์จะตรวจค่าตับ ค่าตับอักเสบบี และ Ultrasound ตับ เพื่อดูว่ามีก้อนผิดปกติอะไรที่ตับหรือไม่ เพราะก้อนมะเร็งขนาดเล็กๆ คนไข้จะไม่มีอาการ แต่สามารถรักษาให้หายขาดได้ง่าย
การปฏิบัติตัวเมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
- รับประทานยาและปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์
- เข้ารับการตรวจเลือดตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
- ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเป็นระยะๆ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจการทำงานของตับ และคัดกรองหามะเร็งตับในระยะแรก
- บอกให้คนใกล้ชิดทราบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเพื่อให้ระวังตัว พร้อมให้คนใกล้ชิดไปฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบ
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเวลามีเพศสัมพันธ์
- งดบริจาคเลือด
- งดดื่มสุราและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์
- งดสูบบุหรี่
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่สุกสะอาด
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง
- ไม่รับประทานยาที่ไม่จำเป็น
- งดการใช้ของร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะของที่ปนเปื้อนเลือดได้ เช่น มีดโกน แปรงสีฟัน
- แนะนําให้ผู้ที่ยังไม่มีภูมิกันโรคที่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นพาหะฉีดวัคซีน (จริงๆแล้วคนไทยทุกคนทั้งประเทศควรได้รับวัคซีน แล้วเช็คให้เรียบร้อยว่ามีภูมิ)
- ใช้ถุงยางอนามัย เมื่อจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคนี้
ถ้าคนไข้ท่านใดที่รู้ว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบีและ มีจุดประสงค์ต้องการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านตับ สามารถทำนัดพบแพทยอายุรกรรมทางเดินอาหารและตับได้ครับ แผนก OPD 2A