จากความสำเร็จของการศึกษาด้านพันธุกรรมมนุษย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ประกอบกับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของ “เทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่” ส่งผลให้เกิด “การแพทย์จีโนมิกส์” ที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัย และวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคลได้อย่างเหมาะสม – แม่นยำขึ้น
ซึ่งในหลายๆประเทศได้เริ่มต้นแล้ว กับการนำการแพทย์จีโนมิกส์ มาประยุกต์ใช้ เช่น รักษาโรคมะเร็ง โรคหายาก และโรคติดเชื้อ
สำหรับ “ประเทศไทย” ได้ก้าวมาสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 มีนาคม 2562 เห็นชอบ “แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ.2563-2567” สนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมคนไทย 50,000 ราย มาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และสาธาณสุข บนเป้าหมายเพื่อการปรับเปลี่ยนระบบบริการ การแพทย์ของประเทศ – ให้เกิดมาตรฐานใหม่ ที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างมีคุณภาพ
พร้อมกันนี้ ครม. อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลัก โดยมีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ สวรส. เป็นหน่วยงานกลางขับเคลื่อนแผน อีกทั้งอนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. สงเสริมใหมีการลงทุน ให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย บริการ และธุรกิจเกี่ยวของ
ภารกิจท้าทายนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ได้บรรจุแผนงานวิจัยจีโนมิกส์ เป็นแผนงานวิจัยสำคัญ เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน และวางรากฐานเศรษฐกิจ โดยมีงบประมาณจัดสรรจากกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ กองทุน ววน.
สวรส. กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สกพอ. และหน่วยงานภาคีกว่า 20 แห่ง จึงประสานความร่วมมือขับเคลื่อน ให้เกิดการดำเนินงานสำคัญ ดังนี้
พัฒนาการวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็ง โรคหายาก โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อ และกลุ่มผู้ป่วยแพ้ยา ภายใต้การสนับสนุนจาก สวรส.
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการสนับสนุนงานวิจัย และการให้บริการการแพทย์จีโนมิกส์ โดย
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำหน้าที่สกัด DNA และจัดเก็บตัวอย่างที่ได้จากโครงการวิจัย ให้มีคุณภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ที่พร้อมส่งต่อสำหรับการนำไปถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม
- สวรส. ดำเนินการจัดจ้างภาคเอกชน “ให้บริการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม” โดยตั้งศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ณ มหาวิทยาลัยบูรพา
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลจีโนมขนาดใหญ่เพื่อการวินิจฉัย การเลือกวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ การทำนายโอกาสการเกิดโรค รวมไปถึงการต่อยอดเชิงพาณิชย์
- นอกจากนี้ ยังมีงานท้าทายสำคัญที่จะผลักดันต่อ ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ตลอดจนนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการตรวจทางพันธุศาสตร์ที่ทันสมัย และได้มาตรฐาน รวมไปถึงการผลักดันเป็นบริการในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพไทย ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์แห่งอนาคต
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม อดีตปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) อดีตประธานร่วมคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ.2563-2567) กล่าวว่า “ถ้าโครงการนี้สำเร็จ อีกสัก 5 ปี หรือ 10 ปีนั้น เราจะเห็นว่าโรคทางด้าน Precision medicine หรือโรคทางจีเนติกส์ เราจะมีอุปกรณ์ในการวินิจฉัยโรค อนาคตนั้นทุกโรงพยาบาลอาจจะมีเครื่องมือในการตรวจยีน ผู้ป่วยจะมาขอตรวจยีนได้โดยที่ได้ผลเร็วมากเลย การที่เรารู้ว่ายีนของคนนั้นเป็นอย่างไร
เมื่อเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของคนไทยแล้วนั้น เราจะทำนายได้เลยว่าเขามีโอกาสจะเป็นโรคอะไร เสร็จแล้ว การวินิจฉัยโรค การรักษาโรคก็จะแม่นยำมากขึ้น เครื่องมือพวกนี้เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นอนาคตนั้นเนี่ยการรักษาจะเปลี่ยนไปเยอะ เราเชื่อว่าเราจะสามารถยืดอายุของมนุษย์ ของคนไทยให้มากกว่าปัจจุบันได้อีกด้วย
ต้องขอบคุณท่านอดีตรัฐมนตรี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่สนับสนุนมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งถึงปัจจุบันก็คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผลักดันอย่างเต็มที่ โครงการนี้จึงได้เกิดขึ้น”
ทั้งหมดนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ สู่การพัฒนาระบบสุขภาพ เพื่อคนไทย ในการวินิจฉัย ป้องกัน รักษา เปิดโอกาสให้ได้รับบริการทางการแพทย์แม่นยำที่เข้าถึงได้ สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการแพทย์ทันสมัย และพร้อมก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำศูนย์กลางทางการแพทย์ในระดับภูมิภาค ด้วย “Genomics Thailand”