25 สิงหาคม 2564: ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายพัฒนาวิทยาเขตและการสัตวแพทย์ ลงนามผ่านระบบออนไลน์ ร่วมกับภาคเอกชนชั้นนำ เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาสาขาสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ แลกเปลี่ยนการสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัย ด้านวิชาการ พัฒนาโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์สุขภาพหนึ่งเดียว และโรงพยาบาลสัตว์ศรีสวางควัฒน ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวาควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีความมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยให้มีสุขภาพดี ด้วยเหตุนี้แผนงานและการพัฒนาโครงการอีกหลายอย่างของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงมีเป้าหมายบูรณาการองค์ความรู้ใหม่และสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ ทั้งในมิติของการส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งการป้องกันโรคซึ่งไม่ได้มีข้อจำกัดอยู่เฉพาะในคนเท่านั้น ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ตามหลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One Health) จึงก่อให้เกิดการพัฒนาโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์สุขภาพหนึ่งเดียว และโรงพยาบาลสัตว์ศรีสวางควัฒน บนพื้นที่กว่า 230 ไร่ ณ บริเวณพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวิทยาเขตดังกล่าวว่า “วิทยาเขตเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์พนารักษ์ ปากช่อง” โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมอาหารและชีวภัณฑ์ การปศุสัตว์ ตลอดจนพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ มีทั้งหน่วยงานของภาครัฐ เอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษา มีความสะดวกรวดเร็วด้านการคมนาคมเชื่อมต่อได้หลายภูมิภาคของประเทศอีกด้วย
โดยที่คณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีแผนพัฒนาหลักสูตรเพื่อจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต (นานาชาติ) และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตอื่นๆ ทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา ตลอดจนบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อดำเนินการภายใต้แนวคิดอุทยานวิทยาศาสตร์สุขภาพหนึ่งเดียว ในการผลิตและพัฒนาบุคลากร ตลอดจนงานวิชาการและงานวิจัยด้านการสัตวแพทย์และสัตววิทยาประยุกต์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และปริมาณ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ อนึ่งเพื่อให้มีแนวทางการร่วมดำเนินการที่ชัดเจน จึงนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับองค์กรภาคเอกชนชั้นนำรวม 6 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ทีอาร์เอฟ ฟีดมิลล์ จำกัด บริษัท กีซเซ่ จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภมรชัย ซัพพลาย บริษัท เกรนาเดส ไบโอเทค จำกัด บริษัท โอ สแควร์ ดิสทริบิวชั่น จำกัด และ บริษัท กรีน อินโนเวทีฟไบโอเทคโนโลยี จำกัด โดยมีกรอบระยะเวลา 5 ปี ในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตร การวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งกลยุทธ์การจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับตลาดแรงงาน และยุทธศาสตร์ภาคธุรกิจ ร่วมมือกันบริการวิชาการที่สอดคล้องกับความต้องการของ ประชาชน สังคม และประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามปรัชญาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต”