1 ตุลาคม 2563 : คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ในการเปิดหลักสูตร “นวัตกรรมการบริหารจัดการสถานพยาบาล หลักสูตร 1 ปี” ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 4 อาคารศูนย์การเเพทย์มะเร็งวิทยาเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตั้งเป้าหมายปั้นผู้เรียนให้รอบรู้ทักษะการบริการจัดการสถานพยาบาล เกิดเป็นวิชาชีพสายสนับสนุนงานบริการในโรงพยาบาล โดยเริ่มจากเป็นบุคลากรในสังกัดของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สอดรับกับการขยายตัวของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ในอนาคต นำโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ว่าที่ร้อยตรี ดร.อุดม สุวรรณพิมพ์ รองปลัด อบต.แม่ถอด อ.ดร.มาโนชญ์ ชายครอง คณะสาธารณสุขศาสตร์ สถาบันวิทยาการประกอบการแห่งอโยธยา นางรดา เพ็ชรขัน ผอ.กองการศึกษา เทศบาลเมืองน่าน และอ.สุภาวดี วาทิกทินกร ข้าราชการบำนาญ และรศ.นพ.องค์การ เรืองรัตนอัมพร ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านการพัฒนาพื้นที่และกายภาพ นางสาวฐิติกานต์ ศราภัยวานิช ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านพัฒนาองค์กรและระบบงาน นางโศภิษฐ์ ปรัชญนันทน์ ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านการเงินการคลัง ผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ผู้บริหารคณะเทคโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประธานในพิธีเปิดกล่าวว่า ในการพัฒนาหลักสูตรนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานพยาบาลนี้ เป็นการลดภาระของวิชาชีพหลัก อาทิ แพทย์ พยาบาล เป็นต้น คืนเวลาให้กับวิชาชีพให้กับคนไข้ ปิดช่องว่างในการทำงานอย่างมีคุณภาพด้วยการฝึกอบรมผู้เรียนให้เข้ามาเป็นบุคลากรทางการแพทย์สายสนับสนุนการบริการในโรงพยาบาล โดยหลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องมี 3 คุณสมบัติที่สำคัญของผู้ศึกษา คือ 1) มี Health Literacy มีความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพและการแพทย์ โดยเฉพาะเรื่องโรคเบื้องต้น 2) มีจิตตะปัญญา คือ จิตเมตตา ความกรุณา เห็นอกเห็นใจเอาใจใส่คนรอบข้าง เข้าใจในตนเองและผู้อื่น 3) มี Skillset มีความรู้ ความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พร้อมเรียนรู้หน้างานและพร้อมฝึกฝนการจัดการปัญหา โดยคุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ทักษะที่แตกต่างแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในหลักสูตรนี้คือ การมี Soft skill ทักษะการติดต่อสื่อสาร ประสานงาน นัดหมาย และเน้นการปฏิบัติงานจริงในสถานที่จริงเพื่อเข้าใจวิธีการปฏิบัติงานและการแก้ไขปัญหาในงานได้อย่างครบวงจร
ในการเปิดการเรียนการสอนของหลักสูตรนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากวิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นสถานที่รองรับการเรียนการสอน เปรียบผู้เรียนในหลักสูตรนี้เป็นเป็ดน้อยที่มีทักษะรอบด้าน ที่กำลังก้าวเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นหงส์ที่มีความสามารถในการส่งเสริมงานบริการด้านการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพครอบคลุมการบริหารจัดการสถานพยาบาลอย่างเต็มศักยภาพ ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่มีพระประสงค์ให้ชาวไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเทียมกันทุกคน