วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปยังศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมืองไฮเดลแบร์ก โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.มิชาเอล เบามันน์ ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พร้อมด้วยผู้บริหารศูนย์บำบัดรักษาด้วยรังสีอนุภาคไฮเดลแบร์ก และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์ก เฝ้ารับเสด็จ
ศูนย์บำบัดรักษาด้วยรังสีอนุภาคไฮเดลแบร์ก หรือศูนย์เอ็ชไอที (HIT) เป็นศูนย์ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2009 โดยอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์ก มีศาสตราจารย์ นพ.เยอร์เก้น เดบุส เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ โดยเป็นศูนย์ที่สามารถให้การรักษาด้านรังสีมะเร็งวิทยาด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน ทั้งนี้ การใช้รังสีอนุภาคในการรักษา หรือเรียกอีกชื่อว่า อนุภาคบำบัด (Particle therapy) สามารถใช้อนุภาคหรือไอออน (Ion) ได้หลายประเภท เช่น ใช้อนุภาคโปรตอน (Proton) ซึ่งเป็นนิวเคลียสประจุบวกของอะตอมไฮโดรเจน หรือใช้ไอออนหนัก (Heavy ion) ซึ่งเป็นนิวเคลียสประจุบวกของอะตอมที่มีมวลมาก เช่น ไอออนของคาร์บอน ออกซิเจน และฮีเลียม เป็นต้น การใช้รังสีอนุภาคหรือไอออนในการรักษา นับได้ว่าเป็นเทคโนโลยีด้านรังสีรักษาที่ทันสมัยที่สุด โดยรังสีอนุภาคหรือไอออนสามารถเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งหรือเนื้องอกที่อยู่ลึกๆ หรืออยู่ในตำแหน่งที่รักษาได้ยาก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ผลการทำลายเซลล์สูงสุดตรงก้อนเนื้อเยื่อมะเร็ง และมีผลกระทบน้อยมากกับเนื้อเยื่อปกติที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งนับว่ามีความแตกต่างอย่างยิ่งจากการรักษาด้วยรังสีแบบดั้งเดิม โรคมะเร็งที่สามารถใช้ไอออนในการรักษา อาทิเช่น มะเร็งสมอง มะเร็งต่อมน้ำลาย มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งซาร์โคม่า แม้กระทั่งโรคเนื้องอกของหลอดเลือดที่ไม่ใช่มะเร็ง ก็สามารถใช้ไอออนรักษาได้เช่นกัน การรักษาด้วยไอออนชนิดคาร์บอนยังมีการทดลองใช้ในผู้ป่วยมะเร็งที่ตั้งครรภ์ โดยพบว่ามีผลแทรกซ้อนน้อยมากต่อทารกในครรภ์ นอกจากนี้ รังสีอนุภาคหรือไอออนยังสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่ไม่เหมาะกับการฉายรังสีแบบเดิม หรือรับการรักษาแบบเดิมแล้วไม่ได้ผล ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการผ่าตัด และกลุ่มผู้ป่วยที่ปฏิเสธการผ่าตัด ทั้งยังเหมาะกับการใช้ในผู้ป่วยเด็กที่เป็นมะเร็งหรือเนื้องอก และมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลแทรกซ้อนอื่นๆ จากการฉายแสง ทั้งนี้ ศูนย์บำบัดรักษาด้วยรังสีอนุภาคไฮเดลแบร์กเป็นสถาบันแห่งแรกในยุโรปที่ให้การรักษาได้ทั้งอนุภาคโปรตอน และไอออนหนักอื่นๆ และยังเป็นแห่งแรกในโลกที่ให้การบำบัดรักษาด้วยอนุภาคไอออนหนักโดยใช้ระบบการฉายหมุนรอบแบบ 360 องศา
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.โอลิเวอร์ เยเคิล หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์การแพทย์ ได้บรรยายถึงประวัติศาสตร์การรักษาด้วยรังสีของศูนย์ฯ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ซึ่งได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ค.ศ. 2005 ได้พัฒนาเทคนิคใหม่ที่เรียกว่าไอเอ็มอาร์ที (IMRT) และในปีค.ศ. 2009 ได้พัฒนาการรักษาด้วยรังสีอนุภาคโปรตอน โดยการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ล้วนแต่ขับเคลื่อนด้วยหลักการทางฟิสิกส์และนักฟิสิกส์การแพทย์ นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นหรือซอฟต์แวร์สำหรับการวางแผนการฉายรังสีที่เรียกว่า แม็ทแหร็ด (MATRAD) ซึ่งเปิดให้ใช้ได้โดยไม่จำกัด รวมทั้งมีการพัฒนาวิธีใหม่ในการถ่ายภาพโดยไม่ใช้รังสีเอกซเรย์ เช่น ใช้ไอออนฮีเลี่ยม เป็นต้น
ส่วน ดร.อัสยา ฟัฟเฟนแบร์กเกอร์ ได้บรรยายเรื่องการใช้เครื่องรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ เอ็มอาร์ไอ (MRI) ในการวางแผนการฉายแสงให้ผู้ป่วยมะเร็ง โดยศูนย์ฯ ได้นำเอ็มอาร์ไอ (MRI) มาใช้ถ่ายภาพก้อนมะเร็งในผู้ป่วยอีกครั้งก่อนการให้รังสีรักษาจริงๆ ทำให้การรักษาในผู้ป่วยมีความแม่นยำมากขึ้น และได้ประสิทธิผลกว่าเดิม ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงให้ความสนพระทัยในการดำเนินงานทั้งด้านการแพทย์และการวิจัยของศูนย์บำบัดรักษาด้วยรังสีอนุภาคไฮเดลแบร์ก โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์ก ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน เพื่อนำมารักษาผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างแม่นยำ และไม่เป็นอันตรายต่อระบบเนื้อเยื่อปกติข้างเคียง อีกทั้งการเสด็จเยือนครั้งนี้ยังเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความร่วมมือด้านวิชาการกับนักฟิสิกส์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์ก เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรปริญญาโทด้านฟิสิกส์การแพทย์ ของคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อผลิตนักฟิสิกส์การแพทย์ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลนอย่างยิ่งให้กับประเทศไทย รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากรทั้งระดับอาจารย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และนักศึกษา ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์ก อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาบุคลากร งานวิจัย และงานบริการทางการแพทย์ของประเทศต่อไป
ก่อนเสด็จกลับ พระราชทานพระวโรกาสให้ ดร.ศศิธร โชติวุฒิมนตรี ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวสารสนเทศ และอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และนายปิติทัศน์ ปูรณโชติ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข และนักเรียนทุนปริญญาเอกโครงการทุนเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งกำลังศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์ก เฝ้าอย่างใกล้ชิด