18 ธันวาคม 2560 – ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 5รอบ ภายใต้แนวคิด “INNOVATION IN CANCER RESEARCH AND CARE” การประชุมวิชาการนานาชาติจัดขึ้นโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2560 ณ อาคารศูนย์ประชุม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในโอกาสนี้ ทรงพระราชทานปาฐกถาในหัวข้อ “Early-Life Exposure to Arsenic and its Impacts on Carcinogenesis” และทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ โดยงานประชุมครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก 31 วิทยากรรับเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาในสถาบันและมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก อาทิ อเมริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย เข้าร่วมบรรยาย และมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมกว่า 600 คน มีผู้นำเสนอผลงาน ประเภท Oral Presentation 23 ชิ้นงาน และการนำเสนอผลงานประเภท Poster Presentation 39 ชิ้นงาน
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงอุทิศพระวรกายในการปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการด้วยพระวิริยอุตสาหะ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรชาวไทยและผืนแผ่นดินไทยจนเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งในและต่างประเทศ ในด้านการพัฒนางานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทรงได้รับการถวายพระสมัญญานาม “เจ้าฟ้านักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เนื่องด้วยทรงสำเร็จการศึกษาระดับสูงสุดทางวิทยาศาสตร์ และทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผู้ทรงมีผลงานการศึกษาวิจัยเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ทรงให้ความสำคัญด้านการค้นคว้าวิจัยด้านโรคมะเร็งมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทรงวางรากฐานการดำเนินงานวิจัยด้านโรคมะเร็ง โดยจัดตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อค้นคว้าหาสารเคมีที่มีคุณสมบัติฆ่าเซลล์มะเร็ง และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่เน้นการรักษาควบคู่กับการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการตรวจรักษาโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลที่จะทรงยกระดับการศึกษาด้านการแพทย์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพในประเทศไทย ทรงวางรากฐานการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีพระประสงค์ให้ก่อตั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (Chulabhorn Royal Academy) ให้เป็นสถาบันการศึกษาวิจัย และสถาบันการแพทย์ที่เป็นเลิศเพื่อสานต่อพระปณิธาน และเฉลิมพระเกียรติ 90 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงได้จัดขึ้นภายใต้โครงการดังกล่าว และได้เริ่มเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข และหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์ ในปีการศึกษา 2560 เป็นปีการศึกษาแรก โดยมุ่งหวังให้วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แห่งนี้ เป็นสถาบันเพื่อพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วยเทคนิคการเรียนการสอนที่ทันสมัย โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นหน่วยงานในกำกับเพื่อให้บริการทางการแพทย์ และสนับสนุนการวิจัยและการศึกษาในหลักสูตรต่างๆของวิทยาลัยฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
จึงได้จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสที่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2560 ภายใต้แนวคิด “INNOVATION IN CANCER RESEARCH AND CARE” ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2560 ณ อาคารศูนย์ประชุม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณ และเฉลิมพระเกียรติเผยแพร่พระปรีชาสามารถในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมุ่งหวังให้การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย การตรวจวินิจฉัย การดูแลรักษาโรคมะเร็ง เพื่อบูรณาการองค์ความรู้สู่การพัฒนาวิชาชีพและประโยชน์ของการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้กับประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ เพื่อสืบสานการดำเนินงานตามพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ได้ทรงตระหนักถึงมหันตภัยของโรคมะเร็งดังกล่าวที่มีผลกระทบต่อทั้งสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะความทุกข์ยากของผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัว โดยทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะช่วยเหลือประชาชนชาวไทยทั้งหลายที่ต้องทนทุกข์จากโรคมะเร็ง ในโอกาสนี้ ทรงพระราชทานปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Early-Life Exposure to Arsenic and its Impacts on Carcinogenesis” แก่คณะผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คณะผู้บริหารวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คณะผู้บริหารสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ คณะผู้บริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ คณะแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์สาขาต่างๆ และนักศึกษา ที่เข้าร่วมการประชุมกว่า 600 คน และในงานประชุมครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรรับเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาในสถาบันและมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกเข้าร่วมบรรยาย อาทิ University College London (UCL) สหราชอาณาจักร, Erasmus University Medical Center ประเทศเนเธอร์แลนด์, German Cancer Research Center (DKFZ), มหาวิทยาลัยชั้นนำจากทางสหรัฐอเมริกา อาทิ University of Pennsylvania, University of Illinois at Chicago, UT Health Science Center San Antonio, Colorado State University, University of Miami รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศไทย อาทิ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น ที่มาร่วมบรรยายในหัวข้อวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมความก้าวหน้าทางการแพทย์ทั้งในด้านการศึกษาวิจัย การตรวจวินิจฉัย และการดูแลรักษาโรคมะเร็งด้านต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังให้การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการค้นคว้าวิจัย การตรวจวินิจฉัย และการรักษาโรคมะเร็ง เพื่อบูรณาการองค์ความรู้สู่การพัฒนาวิชาชีพ และประโยชน์ของการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้กับประเทศไทยต่อไป