พระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง


พระราชกรณียกิจ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ
พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”

พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๕ ณ บ้านถ้ำติ้ว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดธรรมชาติยิ่งนัก พระองค์เข้าพระทัยดีว่าป่าไม้ ต้นน้ำ ลำธาร มีความสำคัญต่อชีวิตคนอย่างไร ระหว่างที่เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่นั้น จะทรงพระราชดำเนินทางเท้าขึ้นเขาเข้าป่าเสมอ หากทรงพบว่าไฟกำลังลุกไหม้อยู่ ณ จุดไหน จะทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ดำเนินการ นอกจากนี้ยังทรงมุ่งมั่นอบรมชาวบ้านให้ช่วยกันรักษาป่า เช่น สมุดภาพที่โปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นพระราชทานศาลารวมใจเมื่อเกือบยี่สิบปีมาแล้ว ก็ได้ทรงสอดแทรกเรื่องรักษาป่าและต้นน้ำลำธารไว้ด้วย สมเด็จพระนางเจ้า
สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงริเริ่มโครงการป่ารักน้ำขึ้นเป็นครั้งแรกที่จ.สกลนคร พ.ศ.๒๕๒๕ โปรดเกล้าฯ ให้หาที่ดินที่รกร้างหรือป่าเสื่อมโทรมเพื่อนำต้นไม้ไปปลูก และให้ชาวบ้านช่วยกันดูแล ทรงนำความขึ้นกราบบังคมทูลปรึกษาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และโปรดให้ปลูกต้นไม้โตเร็ว เช่น กระถินยักษ์ ยูคาลิปตัส เพื่อเป็นร่มเงาแก่ไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก ไม้แดง ไม้เต็งรัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีไม้ใช้สอย เช่น ไม้ไผ่ แคบ้าน กระถิน ปลูกสับหว่างกัน เมื่อไม้เศรษฐกิจเติบโตแข็งแรง ก็อนุญาตให้ชาวบ้านตัดไม้โตเร็วและไม้ใช้สอยออกไปใช้ได้

งานอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลเป็นอีก ๑ โครงการเนื่องจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเห็นว่าคนไทยนิยมรับประทานไข่เต่ากันมาก ทรงเกรงว่าจะสูญพันธุ์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้หาซื้อที่เพื่อเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เต่าทะเล ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเกาะมันใน จ.ระยอง และโปรดเกล้าฯ ให้พลเรือเอกนิรันดร์ ศิรินาวิน สมุหราชองครักษ์ในสมัยนั้นเป็นผู้ดำเนินการโครงการโดยขอความร่วมมือจากกรมประมง “โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล” จึงได้กำเนิดขึ้นและสามารถเพาะพันธุ์เต่าทะเลได้เป็นจำนวนมาก


“ ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอมาว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา หรืออาชีพใด อยู่สารทิศใดคนไทยมีความละเอียดอ่อน และไวต่อการรับศิลปะทุกชนิด ขอเพียงแต่ให้เขาได้โอกาสฝึกฝน เขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็นได้”

พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๒ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงตระหนักถึงความสำคัญของชาวไร่ชาวนาผู้ผลิตอาหารซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของมนุษย์ จึงทรงพระราชดำริให้จัดหาอาชีพเสริมแก่เกษตรกรเหล่านี้ เพื่อให้เกษตรกร ไม่ต้องขายที่ดิน ไม่ต้องเป็นหนี้สิน และไม่ต้องทิ้งถิ่นไปทำมาหากินตามเมืองใหญ่ โดยอาชีพเสริมนั้นต้องทำอยู่ที่บ้านได้ในเวลาว่างจากการทำไร่ทำนา หรือแม้แต่ผู้ไม่มีดินเพาะปลูกก็สามารถทำอาชีพเสริมได้ด้วยทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นของตน และด้วยภูมิปัญญา ด้วยฝีมือของเขาเอง นี่คือที่มาของพระราชดำริในการนำศิลปหัตถกรรมมาเป็นอาชีพเสริมแก่เกษตรกร

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดการปฏิบัติงานแบบครบวงจร เมื่อทรงสนับสนุนให้ชาวบ้านทอผ้าไหม ก็ให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและสาวไหมไปพร้อมกันด้วย โดยในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2526 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการประกวดผ้าไหมชนิดต่าง ๆ เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าแพรวา ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าไหมพื้น เป็นต้น โดยจัดขึ้น ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร ผู้ชนะการประกวดในแต่ละประเภทจะได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัล นับว่าเป็นการกระตุ้นให้ราษฎรผู้ทอผ้าไหมได้มีความกระตือรือร้นและมีกำลังใจที่จะผลิตงานฝีมือด้านนี้ต่อไป

ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ ทรงรับชาวไทยภูเขาจากจังหวัดต่าง ๆ เข้าเป็นสมาชิกศิลปาชีพแผนกช่างเงิน ช่างทอง โปรดเกล้าฯ ให้เข้าฝึกงานที่โรงฝึกศิลปาชีพในบริเวณพระตำหนัก ทรงแนะนำรูปแบบใหม่ ๆ โดยยังคงไว้ซึ่งลวดลายของเผ่าพันธุ์ ทำให้งานฝีมือชาวไทยภูเขาก้าวหน้าอย่างมากมาย

ในภาคใต้ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกวดเสื่อกระจูดและเสื่อเตยทั้งเสื่อโบราณและเสื่อสานใหม่ นอกจากนี้ยังเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรและทรงศึกษาย่านลิเภาพันธุ์ต่าง ๆ และทรงใช้กระเป๋าทรงถือสานด้วยย่านลิเภา ประกอบและตกแต่งด้วยฝีมือช่างทองของศิลปาชีพ จนทำให้งานจักสานย่านลิเภาเป็นที่รู้จักแพร่หลายในปัจจุบัน


“…แต่ไหนแต่ไรมา คนไทยเราชอบแต่งกายกันตามสบาย ให้เหมาะแก่ความสะดวก ความประหยัด และอากาศของเมืองเราเท่านั้น ฉะนั้น เครื่องแบบประจำชาติของเราจึงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ไม่มีเป็นประจำอยู่เป็นแบบฉบับอย่างของเพื่อนบ้านใกล้เคียง จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายกันทั่วโลก เช่น ส่าหรีของอินเดีย เครื่องแต่งกายของชาวจีน และกิโมโนของญี่ปุ่น บรรดาพวกผู้หลักผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดต่างก็แนะนำให้ข้าพเจ้านุ่งซิ่น
อย่างไทย ๆ นี่แหละไปทุกหนทุกแห่ง…”

เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๓ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีกำหนดการที่จะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงพระราชดำริว่าสตรีไทยยังไม่มีเครื่องแต่งกายชุดประจำชาติ จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้คิดปรับปรุงแบบเสื้อสตรีไทยโบราณให้ทันสมัย เพื่อทรงใช้เป็นชุดไทยประจำชาติในระหว่างที่เสด็จฯ ไปทรงเยือนต่างประเทศ จนทำให้ไทยเรามีชุดไทยประจำชาติที่สง่างามและเหมาะสมสำหรับไว้โอกาสต่าง ๆ เรียกว่า “ชุดไทยพระราชนิยม” มีดังนี้ ๑.ชุดไทยเรือนต้น ๒.ชุดไทยจิตรลดา ๓.ชุดไทยอมรินทร์ ๔.ชุดไทยบรมพิมาน ๕.ชุดไทยจักรี ๖.ชุดไทยดุสิต ๗.ชุดไทยศิวาลัย ๘.ชุดไทยจักรพรรดิ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมในหมู่สตรีไทยและสังคมไทยทั่วไป ทั้งยังได้เผยแพร่ชื่อเสียงความงดงามไปยังนานาประเทศ

นอกจากนี้ ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ศึกษาค้นคว้าการแสดงโขนตามแบบโบราณราชประเพณี พร้อมฟื้นฟูองค์ความรู้ในการสร้างเครื่องแต่งกายโขนให้งดงามตามธรรมเนียมเดิม เพื่อจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนละครขึ้นใหม่ ตลอดจนพัฒนาศิลปะการแสดงหน้าโขนละครให้มีความร่วมสมัย โขนพระราชทาน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดศึกพรหมาศ เมื่อ พ.ศ. 2552 จึงเป็นปฐมบทแห่งโขนพระราชทานที่ประสบความสำเร็จ ได้รับความชื่นชมในเรื่องความงดงามของเครื่องแต่งกาย ความวิจิตรตระการตาของฉากและเทคนิคต่าง ๆ นำไปสู่การแสดงโขนพระราชทานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโขนไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ถือเป็นมรดกล้ำค่าของชาติที่ชาวไทยทุกคนควรร่วมกันอนุรักษ์ไว้ด้วยความหวงแหนยิ่งชีพ


“…ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องสุขภาพอนามัยนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ดังคำกล่าวที่ว่า จิตใจที่แจ่มใสย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง หากประชาชนมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะมีสติปัญญาเล่าเรียน ประกอบสัมมาอาชีพ
สร้างสรรค์ความเจริญต่าง ๆ ให้บ้านเมือง…”


พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
วันที่ 11 สิงหาคม 2531 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทุกครั้งที่เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ที่ตามเสด็จช่วยตรวจรักษาผู้ป่วยที่มาเฝ้ารับเสด็จ ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการส่งตัวเข้าโรงพยาบาล แต่หากเป็นโรคที่ต้องการแพทย์เฉพาะโรคที่ไม่มีในจังหวัดนั้น ๆ ก็ให้นำตัวส่งเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเข้ารับการรักษาจนกว่าจะหาย ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้จัด “หน่วยแพทย์พระราชทาน” เดินทางไปให้การตรวจรักษาโดยเฉพาะตามจุดต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค

สำหรับผู้ป่วยที่โปรดเกล้าฯ ให้นำตัวมารักษาที่โรงพยาบาลต่างๆ ในกรุงเทพ จะโปรดเกล้าฯ ให้จัดนางสนองพระโอษฐ์และอาสาสมัครเวียนไปเยี่ยมผู้ป่วยเหล่านี้ทุกวัน สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาแก่ครอบครัว เช่น พระราชทานการศึกษาแก่บุตรหรือคนใดคนหนึ่งของครอบครัว หรือพระราชทานงานศิลปาชีพเพื่อช่วยเหลือรายได้ของครอบครัว

แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือ โควิด-๑๙ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และชุดอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจแบบอากาศบริสุทธิ์ PAPR เพื่อใช้ในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลประจำจังหวัดในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร และทุกเหล่าทัพช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละให้ปลอดภัยจากการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19