วันนวมินทรมหาราช
๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๖
วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ ๙ ผู้ยิ่งใหญ่
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ธ สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ขอเผยแพร่พระราชกรณียกิจในด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
เพื่อน้อมรําลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับงานสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่าโครงการที่พระราชทานให้กับประชาชนในระยะแรก ๆ เป็นการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างสถานบริการสาธารณสุขและระยะต่อมาเป็นโครงการพัฒนาสุขภาพอนามัยให้แก่ประชาชน เมื่อประชาชนมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงจะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดีตามไปด้วย โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม ณ วังไกลกังวล หัวหิน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะแพทย์ ในขบวนเสด็จทำการตรวจรักษาราษฎร ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีหน่วยแพทย์ของทางราชการเข้าไปถึงท้องที่ โดยไม่คิดค่ารักษา และทรงพบว่าราษฎรจำนวนมากขาดการดูแลรักษาในด้านสุขภาพอนามัย ต่อมาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่โครงการต่าง ๆ ตามท้องถิ่นทุรกันดาร และทรงพบว่าราษฎรที่มารอรับเสด็จเจ็บป่วยกันมาก ทั้งยังมีความยากลำบากในการเดินทางไปรักษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะแพทย์ที่ตามเสด็จตรวจและรักษาประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วย โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์ จึงได้ขยายขอบข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง มีการจัดอบรมหมอหมู่บ้านนั้น ๆ ให้รู้จักวิธีรักษาพยาบาลแผนปัจจุบันอย่างถูกต้อง อบรมให้ราษฎรให้รู้จักการติดต่อกับหน่วยราชการเมื่อเจ็บป่วยรุนแรงเกินขีดจำกัด ซึ่งสามารถช่วยประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างดี นับเป็นต้นกำเนิดของคำว่า “หน่วยแพทย์พระราชทาน”
เรือพระราชทาน “เวชพาหน์” เป็นเรือไม้ ๒ ชั้น ขนาดกว้าง ๓.๘๑ เมตร ยาว ๑๕.๖๙ เมตร สูง ๓.๗๕ เมตร กินน้ำลึก ๑.๒๐ เมตร เครื่องยนต์ดีเซล ๒๐๐ แรงม้า เครื่องยี่ห้อโตโยต้า ๖ สูบ ความเร็วเรือ ๑๒ น็อตต่อชั่วโมง สามารถบรรทุกผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ประจำเรือได้ ๓๐ คน ชั้นบน เป็นโถงโล่ง ใช้เป็นที่พักผ่อนสำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์ ชั้นล่าง ประกอบด้วย ห้องตรวจรักษาโรคทั่วไป ห้องทันตกรรม ห้องผ่าตัดเล็ก ห้องนอนเจ้าหน้าที่ประจำเรือ ห้องสุขา ห้องน้ำ ห้องครัว และห้องเครื่องยนต์ สำนักพระราชวังได้จดทะเบียน “เวชพาหน์” เป็นเรือยนต์หลวง และให้อยู่ในความดูแลรักษาของฝ่ายเรือยนต์หลวง กองพระราชพาหนะ สำนักพระราชวัง ซึ่งจะจัดเจ้าหน้าที่ประจำเรือในการนำออกใช้ปฏิบัติงานตามที่สภากาชาดไทยกำหนดแจ้งขอเป็นครั้งคราว ปัจจุบัน สภากาชาดไทยยังคงใช้เรือพระราชทาน “เวชพาหน์” ในการบรรเทาทุกข์และรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย ทั้งด้านการตรวจรักษาโรคทั่วไป การฝังเข็มประยุกต์ การตรวจรักษาด้านทันตกรรม การให้ความรู้ด้านสุขศึกษา และการป้องกันโรคต่าง ๆ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชปรารภว่า “เวลาพระองค์มีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษา แล้วเวลาราษฎรที่อยู่ห่างไกลจะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือเปล่า” ในเวลาต่อมา ทรงทราบว่าทันตแพทย์นั้นมีน้อยและมีอยู่ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น บางจังหวัดก็ไม่มีทันตแพทย์อยู่เลย พระองค์มีพระดำรัสว่า “การจะให้ราษฎรที่ยากจนที่มีปัญหาเรื่องฟัน หยุดการทำนา ทำไร่ เดินทางไปหาหมอนั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงกันข้าม หากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง” พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้ง “หน่วยทันตกรรมพระราชทาน” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อรถยนต์ทำฟันเคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์ เพื่อให้ทันตแพทย์อาสาสมัครสามารถออกให้บริการประชาชน ช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันแก่เด็ก นักเรียน และประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยออกปฏิบัติงานให้บริการทันตกรรมเคลื่อนที่เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๑๓ โดยเริ่มต้นที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรื่อยขึ้นมาจนถึงจังหวัดนครปฐม
นอกจากนี้ ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการแพทย์อย่างโครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ โครงการศัลยแพทย์อาสา ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน เป็นต้น นับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่แสดงถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยโดยทรงมุ่งหวังให้ประชาชนชาวไทยได้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงในทุกถิ่นฐาน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติสืบไป