วันนวมินทรมหาราช
๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๖
วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ ๙ ผู้ยิ่งใหญ่
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ธ สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ขอเผยแพร่พระราชกรณียกิจในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
เพื่อน้อมรําลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
กังหันน้ำชัยพัฒนา นวัตกรรมบำบัดน้ำเสียตามพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงปัญหาของแหล่งน้ำเน่าเสียต่าง ๆ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น จึงทรงมีพระราชดำริว่าจำเป็นต้องบำบัดน้ำเสียด้วยเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำ เป็นกังหันน้ำแบบทุ่นลอย ซึ่งใช้ในการบำบัดน้ำเสียโดยใช้กังหันวิดน้ำไปบนผิวน้ำ แล้วปล่อยให้ตกลงผิวน้ำตามเดิม และน้ำจะถูกสาดกระจายสัมผัสอากาศ ทำให้ออกซิเจนละลายในน้ำ น้ำเสียจึงมีคุณภาพดีขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาและวิจัยร่วมกับกรมชลประทาน ผลิตเครื่องต้นแบบขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ จากนั้นมีการพัฒนามาอีกหลายรุ่น โดยวิธีการดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหามลภาวะทางน้ำ สะท้อนถึงแนวทางการทรงงานที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเรียบง่าย แต่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ พัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องของธรรมชาติ ที่สำคัญคือเป็นเทคโนโลยีที่สามารถผลิตขึ้นใช้ได้ในประเทศ ผลสำเร็จของการใช้กังหันน้ำชัยพัฒนา ในการบำบัดน้ำเสียขยายสู่แหล่งต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ทั่วโลก
น้ำพระราชหฤทัย จากฟ้าสู่ประชาไทย
ฝนหลวงพระราชทาน การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร จากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร ๑๕ จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ จากนั้นเป็นต้นมาทรงศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งทรงรอบรู้และเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับทั้งใน และต่างประเทศ จนทรงมั่นพระทัย จึงได้พระราชทานโครงการพระราชดำริฝนหลวง โดยให้ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำเนินการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนเทียม หรือ ฝนหลวง ในท้องฟ้าให้เป็นไปได้ และในวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลกด้วยพระองค์เอง ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และทรงพระปรีชาสามารถทำให้ฝนตกตามเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ท่ามกลางสายตาของคณะผู้แทนของรัฐบาลต่างประเทศเป็นครั้งแรก และในเวลาต่อมา ได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการพระราชดำริ ฝนหลวง” (Artificial Rain) เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรที่ขาดแคลนนํ้าอุปโภคบริโภคและการเกษตร
พระราชวิสัยทัศน์พัฒนาพลังงานทดแทน
จากแก๊สชีวภาพ สู่แก๊สโซฮอล์ ดีโซฮอล์ และน้ำมันปาล์ม
“…น้ำมันปาล์มทราบว่าดีเป็นน้ำมันที่ดีใช้งานได้ ใช้บริโภคแบบใช้น้ำมันมาทอดไข่ได้ มาทำครัวได้ เอาน้ำมันปาล์มมาใส่รถดีเซลได้ กำลังของน้ำมันปาล์มนี้ดีมากได้ผล เพราะว่าเมื่อได้มาใส่รถดีเซลไม่ต้องทำอะไรเลย ใส่เข้าไป แล่นไป คนที่แล่นตามบอกว่าหอมดี… “
การใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชปรารภตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๔ ถึงอนาคตของน้ำมันเชื้อเพลิงว่าต่อไปจะมีราคาแพง จึงมีพระราชดำริในการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โครงการพัฒนาพลังงานทดแทนโดยนำน้ำมันปาล์มมาใช้แทนน้ำมันดีเซลเริ่มขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๘ ทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และ พ.ศ. ๒๕๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ผลิตได้วันละ ๑๑๐ ลิตร ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เพื่อนำผลผลิตปาล์มน้ำมันจากแปลงทดลองของศูนย์ฯ มาสกัดแปรรูปเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เพื่อการบริโภค และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์โดยเริ่มที่การสกัดน้ำมันปาล์มในระดับครัวเรือน
มันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์หรือที่เรียกว่า อาร์.บี.ดี.ปาล์ม โอลีน (R.B.D. Palm Olein) เป็นน้ำมันที่สกัดจากผลปาล์มตามกรรมวิธีสะอาด ใช้ปรุงอาหารรับประทานได้ ด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้จึงนำมาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล โดยนำมาผสมกับน้ำมันดีเซล เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ดีเซลทุกชนิด ได้ทุกอัตราตั้งแต่ร้อยละ ๐.๐๑-๙๙.๙๙ โดยปริมาตร หรือใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ดีเซลได้ ๑๐๐% โดยปริมาตร โดยไม่ต้องผสมกับน้ำดีเซล การทดลองใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์กับเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้ในการเกษตร รถพิกอัป และรถตู้ เปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซลธรรมดา ปรากฎว่าน้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ช่วยลดเขม่าและสารพิษในไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซลได้ถึง ๔ เท่า ทั้งยังมีคุณสมบัติหล่อลื่นสูง ไม่ต้องใช้เครื่องกรองและกำจัดไอเสีย จึงเป็นทางเลือกทางหนึ่งเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและช่วยพยุงราคาผลผลิตปาล์มให้แก่เกษตรกรและช่วยทดแทนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย