ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดพิธีทำบุญถวายเป็นพระกุศลฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สืบสานการดำเนินงานตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดพิธีทำบุญถวายเป็นพระกุศลแด่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ณ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ได้รับเมตตาจากสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานในพิธี นำคณะผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล บุคลากร โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมพิธีทำบุญถวายเป็นพระกุศลฯ พร้อมกันนี้ ในโอกาสครบรอบ 15 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ คณะผู้บริหารได้มอบกระเป๋ายาพระราชทานให้กับคนไข้ ณ หอผู้ป่วยในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง ทั้งนี้ เพื่อน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณและสานต่อการดำเนินงานด้านการดูแลส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน ตามพระปณิธานขององค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดตั้งขึ้นจากพระปณิธานอันแน่วแน่ของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยในท้องถิ่นทุรกันดารที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็งให้ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและพัฒนายกระดับการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ ต่อมาทรงมีพระดำริให้ขยายขอบข่ายการดูแลรักษาของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ด้วยพระกรุณาธิคุณโครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง ส่วนต่อขยายเพิ่มเติมการให้บริการทางแพทย์จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมทุกโรคให้กับประชาชนและทรงจัดตั้ง “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ในปี พ.ศ.2559 เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนและการวิจัยขั้นสูงที่จะสร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสำคัญและตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ พร้อมทั้งให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนโดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นส่วนงานภายใต้กำกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีภารกิจด้านการให้บริการทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลด้วยมาตรฐานสากลแก่ประชาชน และเป็นสถานที่ฝึกเรียนรู้ทางคลินิกสำหรับนักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้มุ่งพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการให้บริการสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 15 ของการดำเนินงานได้ตั้งเป้าขยายการเปิดให้บริการทางการแพทย์ในอาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง ด้วยระบบบริการสุขภาพเฉพาะทางที่นำนวัตกรรมเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัยและจำเป็นต่อการตรวจรักษาอย่างครบถ้วนและเต็มศักยภาพ เพื่อต่อยอดความเชี่ยวชาญเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิอย่างและครบวงจร

ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ เป็นพระพุทธรูปประจำโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งทรงเจริญพระชนมายุ ๘๙ พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมายุ ๘๔ พรรษา โดยประดิษฐาน ณ ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นแห่งแรก และเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เสด็จไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์หอพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ และทรงเททองหล่อพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด ๔๐๐ เตียง เป็นสถานที่ไว้เคารพสักการะบูชาของประชาชนผู้มาเข้ารับบริการ เป็นขวัญกำลังใจให้ปราศจากโรคภัยทั้งปวง

พระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ ออกแบบตามพระวินิจฉัย โดยศาสตรเมธีนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบประยุกต์ร่วมสมัย ปางนาคปรกบนพระหัตถ์มีหม้อยา ในคติมหายานเชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าแห่งการรักษาโรค เพื่อให้สัตว์โลกมิต้องมีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน ปลดเปลื้องความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานของมนุษย์ทั้งโรคทางกาย ทางใจ และทางกรรม ส่วนของหอพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ ออกแบบโดยอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติประจำพุทธศักราช ๒๕๔๖ สาขาสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) เป็นอาคารทรงยอดที่ได้แรงบันดาลใจจากยอดจุลมงกุฎตามลักษณะที่ปรากฎในพระนามาภิไธย พื้นที่ใต้ฝ้าเพดานตอนบนเป็นทรงโดม ตกแต่งด้วยจิตรกรรมสื่อสัญลักษณ์จักรวาลมณฑล และพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา ในลักษณะคติแบบนิกายมหายาน บริเวณฐานเสามีการแกะสลักหินเป็นรูปไก่ฟ้า ซึ่งสื่อถึงปีนักษัตรแห่งพระประสูติกาล ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยหอพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ สะท้อนความหมายสำคัญและแสดงออกซึ่งศิลปสถาปัตยกรรมไทยอย่างสมสมัย