26 มิถุนายน 2566 : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมพิธีรับมอบใบประกาศนียบัตรแสดงความยินดี แก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่คว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติ Internationally Outstanding Inventors Awards Ceremony ซึ่งจัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ ชั้น 3 สโมสรทหารบก วิภาวดี ภายในงานมีการจัดนิทรรศการผลงานของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากเวทีนานาชาติ และมีการปาฐกถาพิเศษ “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทยก้าวไกลระดับโลก” พร้อมทั้งมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย โดยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงานผลสำเร็จการส่งเสริมและพัฒนานักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยที่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยได้สร้างชื่อเสียงนำนวัตกรรมของประเทศไทยสู่เวทีนานาชาติ การนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดีกับทีมนักวิจัยที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติ 60 ปีเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ได้ส่งนักวิจัยและผลงานสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติ The 48th International Exhibition of Inventions Geneva ระหว่างวันที่ 26 – 30 เมษายน 2566 ณ ศูนย์ประชุม Palexpo นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ เหรียญทอง เหรียญเงิน และ Special prize สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ได้แก่
1. รางวัล GOLD MEDAL และ Special prize: Outstanding Innovation Award จากประเทศซาอุดิอาระเบีย ชื่อผลงาน “ออปติก ระบบคัดกรองมะเร็งจากการวิเคราะห์ลายนิ้วมือด้วยเทคนิคดิจิตอลโฮโลกราฟีและปัญญาประดิษฐ์” โดยทีมนักวิจัยประกอบด้วย นายพชร ทองลิ้ม สังกัดศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติ 60 ปี เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และคณะฯ
2. รางวัล GOLD MEDAL และ Special prize จาก Hong Kong Delegation ชื่อผลงาน “การคัดกรองมะเร็งเต้านมทางไกลโดยใช้ระบบบริหารจัดการภาพอัลตราซาวด์สามมิติอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีคลาวน์และปัญญาประดิษฐ์” โดยทีมนักวิจัยประกอบด้วย อาจารย์ ดร.ทศพร เฟื่องรอด สังกัดวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน และนายแพทย์ศรัณย์ เลิศสถิตธนกร สังกัดโรงพยาบาลจุฬาภรณ์
3. รางวัล GOLD MEDAL (with the congratulations of the jury) ชื่อผลงาน “เทคโนโลยีต้นทุนต่ำสำหรับการตรวจคัดกรองภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดด้วยปัญญาประดิษฐ์” โดยทีมนักวิจัยประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันท์ธิดา ภัทราประยูร , อาจารย์ ดร.ทศพร เฟื่องรอด และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีรภัทร อึ้งตระกูล สังกัดวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒนและผู้ช่วยศาสตราจารย์พันโท นายแพทย์ธานินทร์ พิรุณเนตร สังกัดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
4. รางวัล SILVER MEDAL ชื่อผลงาน “คิวเอ เพาส์: ระบบประกันคุณภาพเชิงทำนายสำหรับเครื่องเร่งอนุภาคในงานรังสีรักษาผู้ป่วยมะเร็ง” โดยทีมนักวิจัย สังกัดวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.ทศพร เฟื่องรอด , อาจารย์ ดร.จีรศักดิ์ คำฟองเครือ และนายปฏิภาณ คำมณี
อนึ่ง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีภารกิจส่งเสริมการทำวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรมตลอดจนสิ่งประดิษฐ์เพื่อสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและทิศทางการวิจัยของโลก การนำผลงานไปประกวดในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นเวทีอันทรงเกียรติและได้รับความเชื่อถือจากนักวิจัยและนักประดิษฐ์ทั่วโลก จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อันจะเป็นแรงผลักดันให้นักวิจัยของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพสูงต่อไป นอกจากนี้ เวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ในระดับนานาชาติยังจะเป็นเวทีในการแสวงหาความร่วมมือสำหรับการวิจัยเชิงนวัตกรรมต่อไปด้วย