วันที่ 16 ธันวาคม 2567 : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมพิธีรับมอบใบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่คว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติ Internationally Outstanding Inventors Awards Ceremony ซึ่งจัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงาน ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมทีมผู้บริหาร และนักวิจัยจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมรับมอบประกาศเกียรติคุณและแสดงความยินดีกับทีมนักวิจัยที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ด้วย ณ โรงแรมอนันตราสยาม กรุงเทพมหานคร
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติ 60 ปีเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ได้ส่งนักวิจัยและผลงานสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติ Seoul International Invention Fair 2024 (SIIF2024) ณ ศูนย์ประชุม COEX Convention & Exhibition Center ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2567 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี นับเป็นความภาคภูมิใจของ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อีกวาระหนึ่ง ในการนำความเชี่ยวชาญ เข้าไปตอบโจทย์ พัฒนาต่อยอดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ประจักษ์ในเวทีนานาชาติ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ได้แก่
1) รางวัลGold Prize ชื่อผลงาน CRA LungCheck: การใช้ปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศจากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งเพื่อการคัดกรองและประเมินความผิดปกติของปอดพนักงานโรงงาน โดยทีมนักวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิริยะ มหิกุล, นายณฐนนท์ เทพตะขบ, นายไตรรัตน์ อารมฤทธิ์, นายภานุพงศ์ แก้วขาว, นางสาวญาณิศา เชื้อนพรัตน์ และ อาจารย์ ดร. แพทย์หญิงณัทญา ตรีภูริเดช
2) รางวัล Gold Prizeและ Special Prize: Korea Woman Inventors ชื่อผลงาน MammoPro Educator: หุ่นจำลองเต้านมสำหรับฝึกจัดท่าถ่ายเอกซเรย์เต้านมโดยทีมนักวิจัยสังกัดคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณิการ์ ขาววิเศษ, อาจารย์ ดร.ณภัทร ฤทธิ์ล้ำเลิศ, อาจารย์ ดร.สุทธิรักษ์ ตั้งเรืองเกียรติ และ นักวิจัยสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.แคน กอมณี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรนันท์ คีรีสัตยกุล
3) รางวัล Gold Prize และ Special Prize: The Excellent invention จาก National Research Council of Thailand (NRCT) ชื่อผลงานอุปกรณ์ถ่างลิ้นสำหรับการตัดพังผืดใต้ลิ้นในทารกแรกเกิด (Disposable tongue retractor for neonatal frenotomy) โดย แพทย์หญิงปวีวรรณ จิรวิสฐกุล นักวิจัยจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์
4) รางวัล Bronze Prizeและ Special Award: The Excellent invention จาก National Research Council of Thailand (NRCT) ชื่อผลงาน CRA SkinSense AI : ระบบวัดประเมินความหนาของเนื้อเยื่อผิวหนังชั้นนอกอัตโนมัติ สำหรับภาพถ่ายทางพยาธิภูมิคุ้มกันด้วยเทคโนโลยีการประมวลภาพดิจิตอลและปัญญาประดิษฐ์ โดยทีมนักวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัญมณี ฉัตรศิริศุภชัย, นายไตรรัตน์ อารมฤทธิ์, นางสาวพรพิชญ์พัณ เนียมหอม, นางสาวพิทยาภรณ์ มูสิกะ และ นายฌานเมธ อัครกิตติ สังกัด วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี
อนึ่ง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีภารกิจส่งเสริมการทำวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรมตลอดจนสิ่งประดิษฐ์เพื่อสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและทิศทางการวิจัยของโลก การนำผลงานไปประกวดในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นเวทีอันทรงเกียรติและได้รับความเชื่อถือจากนักวิจัยและนักประดิษฐ์ทั่วโลก จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อันจะเป็นแรงผลักดันให้นักวิจัยของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพสูงต่อไปนอกจากนี้ เวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ในระดับนานาชาติยังจะเป็นเวทีในการแสวงหาความร่วมมือสำหรับการวิจัยเชิงนวัตกรรมต่อไปด้วย