ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดพิธีทำบุญถวายเป็นพระกุศลฯ และมหกรรมสุขภาพดี เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๔ ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สืบสานการดำเนินงาน ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

   กรุงเทพฯ 26 ตุลาคม 2566 : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดพิธีทำบุญถวายเป็นพระกุศลแด่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พร้อมจัดงานมหกรรมสุขภาพดี เนื่องในโอกาสครบรอบ 14 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ประธานในพิธี นำคณะผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล บุคลากร โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมทำบุญถวายเป็นพระกุศล และร่วมเปิดงานมหกรรมสุขภาพดี เนื่องในโอกาสครบรอบ 14 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ณ บริเวณชั้น 1 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง ถนนแจ้งวัฒนะซอย 5 เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร กิจกรรมนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด CRA STRONGER TOGETHER เติบโตและแข็งแรงไปด้วยกัน เพื่อน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณและสานต่อการดำเนินงานในการดูแลส่งเสริมสุขภาพประชาชน ตามพระปณิธานอันแน่วแน่ขององค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้ทรงสถาปนาโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

   โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดตั้งขึ้นจากพระปณิธานอันแน่วแน่ของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ปีพุทธศักราช 2552 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยในท้องถิ่นทุรกันดารที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็งให้ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและยกระดับการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากล ต่อมาด้วยพระกรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยถึงสุขภาพของประชาชนชาวไทย และพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลที่ทรงมุ่งมั่นพัฒนางานด้านการแพทย์ และการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนการคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ผ่านกระบวนการวิจัยที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทรงมีพระดำริให้จัดสร้างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง พัฒนาต่อยอดขยายการให้บริการทางการแพทย์ให้ครอบคลุมการรักษาทุกโรค เป็นที่พึ่งให้ประชาชนทุกชนชั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางจนถึงผู้ยากไร้ให้ได้รับการรักษาอย่างดีเยี่ยม พร้อมทั้งทรงจัดตั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนและการวิจัยที่จะสร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสำคัญและตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะสาขาวิชาที่ยังขาดแคลนและมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศชาติ โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการแพทย์ไทยให้ก้าวไกลจนถึงระดับสากล โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นหน่วยงานในกำกับเพื่อรองรับการเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เป็นสถานที่ฝึกเรียนรู้ทางคลินิกสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

    สำหรับงานมหกรรมสุขภาพดี CRA STRONGER TOGETHER ครบรอบ 14 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เติบโตและแข็งแรงไปด้วยกัน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2566 ณ บริเวณชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง บูรณาการความร่วมมือจากศูนย์การรักษาต่าง ๆ ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดบริการสุขภาพแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย โซนสุขภาพต่าง ๆ อาทิ โซนสูงวัยใจสตรอง บริการทดสอบความแข็งแรงของร่างกายและความทรงจำ , บริการตรวจวัดสายตาแก่ผู้สูงอายุ , แนะนำการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ โซนสตรีสุขภาพดี บริการให้คำปรึกษาด้านการตรวจและป้องกันไวรัสเอชพีวี แนะนำการตรวจเต้านมด้วยตนเอง , ให้คำปรึกษาและวางแผนด้านการมีบุตรยาก โซนวิถีสุขภาพแกร่งกับการแพทย์บูรณาการ บริการตรวจชีพจรด้วยแผนไทยและจีน ตรวจธาตุเจ้าเรือนด้วยแพทย์แผนไทยประยุกต์ พร้อมคำแนะนำการดูแลสุขภาพ ติดหมุดเข็มหูปรับสมดุล แนะนำโภชนาการสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น พร้อมทั้งจัดแสดงเทคโนโลยีทางการแพทย์จากศูนย์การรักษาต่าง ๆ ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเปิดเวทีเสวนาให้ความรู้สุขภาพ 4 ตอนพิเศษ จากช่องซีอาร์เอจุฬาภรณ์แชนแนลในรายการ “Are you OK? สบายดีหรือเปล่า ON STAGE” เพื่อให้ผู้รับบริการและประชาชนทั่วไปได้รู้จักบริการทางการแพทย์และมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพ ประกอบด้วย ตอน “ปวดหัวแบบไหนเสี่ยงเนื้องอกในสมอง” โดย ผศ.ป. นพ.ปโยธร เดชะรินทร์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทและรังสีร่วมรักษาระบบประสาท , ตอน “มะเร็งเต้านมตรวจพบเร็วรักษาได้” โดย นพ.ธไนศวรรย์ ปลูกผล และ พญ.ฐิติพร วรรณศรี แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา, ตอน “กระดูกพรุนภัยเงียบใกล้ตัว” โดย นพ. อรรถพร ลาวัณย์ประเสริฐ แพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ และ ตอน “ฟิตอย่างไรไม่ให้หัวใจล้มเหลว” โดย นพ.วงศกร เหลืองพิพัฒน์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด และพญ.พรภา เลิศอุตสาหกูล แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู

     ภายในงานยังเปิดให้หน่วยงานต่าง ๆ ผู้รับบริการและประชาชน ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 14 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สานหัวใจแบ่งปัน สืบสานการดำเนินงานตามพระปณิธาน ด้วยการร่วมบริจาคบูชาพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ พระพุทธรูปประจำโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สมทบทุนสร้างเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ที่บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ เลขบัญชี 430-035080-8 หรือร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ ได้ที่บัญชีธนาคารกรุงเทพ เลขบัญชี 942-3-00099-2 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า รวมทั้งการสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากโครงการในพระดำริ อาทิ ผลิตภัณฑ์ลายเสือจากภาพวาดฝีพระหัตถ์ สมทบทุนมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ ผลิตภัณฑ์เซรามิก สมุนไพรทับทิมสยาม 05 และเสื้อลายภาพวาดฝีพระหัตถ์คุณไหมทอง สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ พร้อมมอบของขวัญสร้างรอยยิ้มให้กับผู้รับบริการที่ร่วมกิจกรรม SNAPSHOT โพสต์ภาพความประทับใจที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และแชร์ลงบนโซเชียลมีเดียพร้อมติด #14ปีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ #CRAStrongerTogether มอบภาพถ่ายเป็นที่ระลึกในวันงาน นอกจากนี้ ร่วมฉลองครบรอบ 14 ปีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มอบของขวัญแก่ผู้ที่แอดเป็นเพื่อนกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ทางไลน์ (LINE @chulabhornhospital) สามารถดาวน์โหลดสติกเกอร์ไลน์ ชุด 14th Anniversary CHULABHORN Hospital น้องหมีพึ่ง x พิง กลับมาในลุคใหม่! พร้อมเป็นตัวแทนส่งต่อความห่วงใยเพราะอยากให้ทุกคนสบายดี ตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2566 นี้ เป็นต้นไป จำนวนจำกัด!

   ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้พัฒนาสู่การให้บริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิขนาดใหญ่ทางฝั่งตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันให้การตรวจรักษาผู้ป่วยจากทั่วทุกภูมิภาค ครอบคลุมทุกโรคด้วยศูนย์การรักษาเฉพาะทางด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นสถานที่ฝึกเรียนรู้ทางคลินิกสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยเปิดให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนใน 4 อาคาร ประกอบด้วย 1. อาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ และ 2. อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ ตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร 6 เขตหลักสี่ ซึ่งเน้นให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งครบทุกมิติ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงที่ได้มาตรฐานในระดับสากล 3. อาคารศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ และ 4. อาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 5 ซึ่งเป็นอาคารแห่งใหม่ที่เริ่มนำร่องเปิดให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนเมื่อต้นปี 2566 ในส่วนของคลินิกผู้ป่วยนอกตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทาง ประกอบด้วย       ศูนย์การรักษาต่าง ๆ อาทิ ภาพวินิจฉัยและรังสีร่วมรักษา หัวใจและหลอดเลือด ออร์โธปิดิกส์ อายุรกรรม ศัลยกรรม เบาหวานและเมตาบอลิก เวชศาสตร์ฟื้นฟู อุบัติเหตุและฉุกเฉิน โดยมีแผนขยายการเปิดให้บริการสำหรับห้องผ่าตัด ห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด และวอร์ดผู้ป่วยใน ภายในปี 2567 ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์มุ่งมั่นให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบริการทางการแพทย์และนำเทคโนโลยีที่เป็นเลิศเข้ามารักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้ทัดเทียมสากล ตลอดจนสืบสานพระปณิธานในการช่วยเหลือประชาชนด้วยความเพียรและจิตเมตตา ซึ่งเป็นพันธกิจที่บุคลากรของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทุกคนยึดถือ เพื่อมุ่งหวังให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นที่พึ่งแก่ผู้ป่วยในทุกระดับชั้นให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกโรค ด้วยวิทยาการแพทย์ขั้นสูงและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นหมุดหมายที่พึ่งทางสุขภาพของกรุงเทพมหานครและของสังคมไทยต่อไป