ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์อาแบส อะลาวี “บิดาแห่งเวชศาสตร์นิวเคลียร์” เข้าเยี่ยมชมศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

16 กรกฎาคม 2567 ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์อาแบส อะลาวี “บิดาแห่งเวชศาสตร์นิวเคลียร์” ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย Professor Dr.Paul Hoilund – Carlsen เข้าเยี่ยมชมศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมี รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช ผู้อำนวยการศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ และรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยทีมแพทย์และบุคลากรของหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์และเพทสแกน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมให้การต้อนรับพร้อมแสดงความยินดีกับศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์อาแบส อะลาวี ที่ได้รับพระราชทานรางวัล Princess Chulabhorn Award 2023 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จากนั้นได้ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากเคสการทำงานต่าง ๆ จากนั้นได้พาคณะเยี่ยมชมส่วนงานบริการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเพทสแกนทั้งเครื่อง PET-CT และ PET MRI , ส่วนงานผลิตสารเภสัชรังสีจากเครื่องไซโคลตรอน ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์อาแบส อะลาวี ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์สาขาวิชารังสีวิทยา โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียและรองผู้อำนวยการสาขาวิชาผู้สูงอายุ คณะแพทย์ศาสตร์พีเรลแมน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา โดยคณะกรรมการตัดสินรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ “Princess Chulabhorn Award” ได้พิจารณาตัดสินให้ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์อาแบส อะลาวี เป็นผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านการป้องกัน ควบคุม และดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งในการคิดค้นสารเภสัชรังสี 18F-FDG สำหรับการตรวจหามะเร็ง และโรคทางระบบประสาทด้วยเครื่องเพทสแกน และได้รับการยกย่องให้เป็น” บิดาแห่งเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์อาแบส ได้เข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ประจำปี 2566 จากศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งนับพระกรุณาคุณและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง
ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ก่อกำเนิดจากพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสร้างภาพในระดับโมเลกุลทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อยกระดับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในประเทศไทย ทรงวางแนวทางการดำเนินงานและเสด็จเปิดศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เพื่อให้ศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง โรคระบบประสาท โรคหัวใจด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเกิดประโยชน์และความคุ้มค่าอย่างสูงสุด พร้อมบูรณาการนวัตกรรมด้านภาพวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีการตรวจและรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แบบครบวงจร ทั้งด้านการผลิตสารเภสัชรังสีจากเครื่องไซโคลตรอนหลากหลายชนิด สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยมาตรฐานการผลิตยาตาม GMP PIC/S และมาตรฐานการกระจายยาตาม GDP PIC/S และให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาทและสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเพทสแกนแก่ผู้ป่วย โดยนำวิทยาการและเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีราคาแพงไปใช้ให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าสูงสุด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการตรวจรักษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม