ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง บูรณาการความร่วมมือ ร่วมลงนาม MOU ด้านวิชาการและการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข

20 กันยายน 2567 : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือทางด้านวิชาการและการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ระหว่างสองหน่วยงาน โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และนายตุล เมฆยงค์ อธิบดีผู้พิพากษา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง นายพรชัย  หวังประเสริฐกุล รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ร่วมลงนามในพิธี ณ ห้องประชุมใหญ่  MC323 ชั้น 3 ณ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

สำหรับการลงนามบันทึกความร่วมมือทางด้านวิชาการและการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อยืนยันเจตจำนงความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานที่จะร่วมกันในการส่งเสริม สนับสนุนเกี่ยวกับการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์พร้อมให้บริการด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพแก่ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ และการให้ความร่วมมือกันในการศึกษา ค้นคว้า วิจัยในส่วนที่เกี่ยวข้องระหว่างทั้งสองหน่วยงาน ทั้งนี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงจัดตั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน การวิจัยขั้นสูงที่จะสร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาที่ขาดแคลนและมีความจำเป็นต่อสังคมไทยและนานาชาติ ทั้งด้านการแพทย์ การสาธารณสุข วิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยี พร้อมทั้งให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการนำวิทยาการขั้นสูงและนวัตกรรมไปใช้ในการดูแลคนไทยให้สามารถเข้าถึงสุขภาวะที่ดีอย่างเท่าเทียม ภายใต้ปรัชญาการดำเนินงาน “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต” นับเป็นก้าวแรกของความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงมุ่งสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่สังคมและประเทศชาติสืบไป