วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2566 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดหน่วยแพทย์พระราชทานให้บริการตรวจสุขภาพพร้อมมอบแว่นสายตาและกระเป๋ายาพระราชทาน จำนวน 200 ชุด แก่ประชาชนในพื้นที่เขตหลักสี่ เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 14 ปีของการจัดตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยมีนายเฉลิมพล ทันจิตต์ รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานในพิธี และมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตหลักสี่ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ให้การต้อนรับ ณ วัดหลักสี่ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
การนี้ รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดกรวยกระทงดอกไม้ ธูปเทียนแพและถวายความเคารพหน้าพระรูป สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พร้อมกล่าวถึงความห่วงใยที่ทรงมีต่อสุขภาพความเป็นอยู่ของประชาชน จากนั้น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตหลักสี่ รับมอบกระเป๋ายาพระราชทานหน้าพระรูป พร้อมกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และรับมอบกระเป๋ายาสามัญประจำบ้านพระราชทาน เพื่อนำไปมอบให้กับประชาชนในพื้นที่เขตหลักสี่ต่อไป จากนั้น รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้น้อมถวายกระเป๋ายาพระราชทานแด่ พระราชพิพัฒนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดหลักสี่ ตามลำดับ โดยมีผู้เข้ารับบริการในวันนี้ รวม 302 ราย แบ่งเป็น 1.ระบบจักษุ 259 ราย 2.ระบบกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ 39 ราย 3.ระบบหัวใจและหลอดเลือด 22 ราย 4.ระบบประสาท 15 ราย 5.ตรวจโรคทั่วไป 9 ราย จำนวนผู้ป่วยส่งต่อ 1 ราย การนี้ รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตหลักสี่ และหัวหน้าส่วนราชการฯ ได้เยี่ยมชมการให้บริการหน่วยแพทย์พระราชทานฯ และเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย
- นางสมพร บุตรเจริญ อายุ 83 ปี ป่วยด้วยอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- นางสาวแอน อรรถมงคล อายุ 41 ปี ป่วยด้วยโรคพิการทางสมอง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เป็นอัมพาตครึ่งซีกตั้งแต่กำเนิด
- พระเดชศักดิ์ดา งามเมือง อายุ 44 ปี ป่วยด้วยโรคกระดูกสันหลังยึดติด ตัวแข็งและกล้ามเนื้อตึงเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดตั้งขึ้นจากพระปณิธานอันแน่วแน่ของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ปีพุทธศักราช 2552 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยในท้องถิ่นทุรกันดารที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็งให้ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและยกระดับการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากล ต่อมาด้วยพระกรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยถึงสุขภาพของประชาชนชาวไทย และพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลที่ทรงมุ่งมั่นพัฒนางานด้านการแพทย์ และการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนการคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ผ่านกระบวนการวิจัยที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทรงมีพระดำริให้จัดสร้างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง พัฒนาต่อยอดขยายการให้บริการทางการแพทย์ให้ครอบคลุมการรักษาทุกโรค เป็นที่พึ่งให้ประชาชนทุกชนชั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางจนถึงผู้ยากไร้ให้ได้รับการรักษาอย่างดีเยี่ยม พร้อมทั้งทรงจัดตั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนและการวิจัยที่จะสร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสำคัญและตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะสาขาวิชาที่ยังขาดแคลนและมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศชาติ โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการแพทย์ไทยให้ก้าวไกลจนถึงระดับสากล โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นหน่วยงานในกำกับเพื่อรองรับการเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เป็นสถานที่ฝึกเรียนรู้ทางคลินิกสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้พัฒนาสู่การให้บริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิขนาดใหญ่ทางฝั่งตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันให้การตรวจรักษาผู้ป่วยจากทั่วทุกภูมิภาค ครอบคลุมทุกโรคด้วยศูนย์การรักษาเฉพาะทางด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นสถานที่ฝึกเรียนรู้ทางคลินิกสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์มุ่งมั่นให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบริการทางการแพทย์และนำเทคโนโลยีที่เป็นเลิศเข้ามารักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้ทัดเทียมสากล ตลอดจนสืบสานพระปณิธานในการช่วยเหลือประชาชนด้วยความเพียรและจิตเมตตา ซึ่งเป็นพันธกิจที่บุคลากรของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทุกคนยึดถือ เพื่อมุ่งหวังให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นที่พึ่งแก่ผู้ป่วยในทุกระดับชั้นให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกโรค ด้วยวิทยาการแพทย์ขั้นสูงและเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพของสังคมไทยต่อไป