วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โปรดให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์องค์การ เรืองรัตนอัมพร รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดหน่วยแพทย์พระราชทานโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ให้บริการตรวจสุขภาพและมอบกระเป๋ายาสามัญประจำบ้านพระราชทาน จำนวน 300 ชุด แก่ประชาชนในพื้นที่เขตดอนเมือง เนื่องในโอกาสครบรอบ 13 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตดอนเมือง และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ให้การต้อนรับและกล่าวสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีความห่วงใยต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เขตดอนเมือง ณ วัดเวฬุวนาราม เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร
เขตดอนเมือง มีพื้นที่ 36.8 ตารางกิโลเมตร มีชุมชนจำนวน 96 ชุมชน มีประชากรทั้งหมด 163,204 คน ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข มีโรงพยาบาลทั่วไป จำนวน 1 แห่ง มีศูนย์บริการสาธารณสุข จำนวน 1 แห่ง โดยเขตดอนเมืองเป็นเขตที่มีขนาดใหญ่ มีกลุ่มเปราะบาง จำนวน 86 คน ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้จัดทีมแพทย์ พยาบาล พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์ มาให้บริการตรวจสุขภาพและรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่ประชาชนทั่วไปในพื้นที่เขตดอนเมือง โดยมีผู้เข้ารับบริการ รวม 341 ราย การนี้ รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตดอนเมือง และหัวหน้าส่วนราชการฯ ได้เยี่ยมชมการให้บริการหน่วยแพทย์พระราชทานฯ พร้อมทั้ง มอบสิ่งของแก่ประชาชนในพื้นที่ จากนั้น ได้เดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง จำนวน 3 ราย ดังนี้
1.นายนิวัฒน์ เกตุแก้ว อายุ 70 ปี ชุมชนร่มไทรงาม อยู่บ้านเลขที่ 189/1 ซอยโกสุมรวมใจ 14 เขตดอนเมือง เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง โรคปอด และโรคหอบหืด พักอาศัยอยู่กับภรรยา มีรายได้มาจากภรรยาที่ประกอบอาชีพรับจ้างเป็นแม่บ้านบริษัทเอกชน ในวันที่ภรรยาต้องออกไปทำงานจะนำนายนิวัฒน์ ไปฝากไว้กับเพื่อนบ้านเพื่อให้คอยช่วยดูแล และบ้านที่อยู่อาศัยปลูกอยู่ในที่ดินของรัฐริมคลองเปรมประชากร
2.นางจรินทร์ มังคล้าย อายุ 88 ปี ชาวชุมชนร่มไทรงาม บ้านเลขที่ 18 ซอยโกสุมรวมใจ 8 เขตดอนเมือง กรุงเทพ เป็นผู้พิการ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องให้อาหารทางสายยาง มีโรคประจำตัวโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองตีบ พักอาศัยอยู่กับลูกชาย รายได้ของครอบครัวมาจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการและลูกที่ทำขนมขายแต่มีรายได้เล็กน้อย
3.นายสุรชัย จันทร์ศรี อายุ ๕๘ ปี ชุมชนประชากร 4บ้านเลขที่ 116 ถนนเชิดวุฒากาศ เขตดอนเมือง กรุงเทพเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง อาศัยอยู่กับพี่สาวที่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ต่อประชาชนในพื้นที่เขตดอนเมือง
จากพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยโรคมะเร็ง และยกระดับการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากลทัดเทียมนานาประเทศ ทรงมีพระดำริให้จัดตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ขึ้น โดยเสด็จเปิดโรงพยาบาลจุฬาภรณ์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ต่อมาด้วยพระกรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยสุขภาพของประชาชนชาวไทย กอรปกับพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลที่จะนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตและดูแลสุขอนามัยแก่ประชาชนจึงทรงมีพระดำริให้พัฒนาต่อยอด “โรงพยาบาลจุฬาภรณ์” จากโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ให้เป็น “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” สถาบันการศึกษาวิจัยที่สร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรในด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำของภูมิภาคโดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการตรวจรักษาพยาบาลแก่ประชาชน ปัจจุบัน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดให้บริการก้าวเข้าสู่ปีที่ 13 โดยพัฒนาสู่การบริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิขั้นสูง ตรวจรักษาผู้ป่วยจากทั่วทุกภูมิภาคครอบคลุมทุกโรค ด้วยศูนย์การรักษาเฉพาะทางด้านต่างๆ ได้แก่ มะเร็งวิทยา ไซโคลตรอนและเพทสแกน หัวใจและหลอดเลือด ภาพวินิจฉัยและรังสีร่วมรักษา ภัยพิบัติและฉุกเฉิน ทางเดินอาหารและตับ กระดูกและข้อ สุขภาพสตรี เต้านม ระบบทางเดินปัสสาวะ จักษุวิทยา อายุรกรรม ศัลยกรรม กุมารเวชกรรม ผิวหนังและเลเซอร์ เป็นต้น พร้อมทั้งให้บริการด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากหลากหลายสาขาที่มีประสบการณ์ ตลอดจนเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยระดับมาตรฐานสากล ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ก้าวสู่การเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ทางฝั่งตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 4 อาคาร ได้แก่ อาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ ตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร 6 เขตหลักสี่อาคารศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ และอาคารศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 5 ที่กำลังจะเปิดให้บริการในปี พ.ศ.2566 นี้ โดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานนามให้ศูนย์การแพทย์แห่งใหม่นี้ว่า “ภัทรมหาราชานุสรณ์” อันมีความหมายว่า ที่ระลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่ง เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสืบสานแนวพระราชดำริของพระราชบิดาในการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ตลอดระยะเวลา 13 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มุ่งมั่นสร้างสรรค์สุขภาพที่ดีเพื่อสังคมไทยภายใต้หลักการทำงาน “ทุกชีวิตของคนไข้คือหัวใจของเรา” สืบสานการดำเนินงานตามพระปณิธานในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานผู้ก่อตั้ง “โรงพยาบาลจุฬาภรณ์” เพื่อเป็นที่พึ่งพิงทางสุขภาพให้กับชนชั้นกลางจนถึงผู้ยากไร้ให้ได้รับการรักษาอย่างดีเยี่ยม โดยมุ่งหวังให้ประชาชนคนไทยในทุกถิ่นฐานมีสุขภาวะที่ดีและเท่าเทียมเพื่อทุกชีวิต