รจภ. ร่วมกับการรถไฟฯ จัดพิธีเปิดใช้ทางเชื่อมต่อ Skywalk ระหว่างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์กับสถานีหลักสี่ ตามพระดำริ ในโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ยกระดับความสะดวกและปลอดภัย ให้แก่ประชาชน พร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

11 เมษายน 2567 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย จัดพิธีเปิดใช้ทางเชื่อมต่อ Skywalk ระหว่างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์กับสถานีหลักสี่ ในโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ตามพระดำริ ใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะช่วยเหลือประชาชนที่เดินทางไปใช้บริการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงาน เข้าร่วมพิธี ณ ด้านหน้าอาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรถไฟฯ ได้น้อมนำพระดำริ ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างทางเชื่อมต่อทางเดินลอยฟ้า (Skywalk) ระหว่างสถานีหลักสี่ ในโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตามพระดำริ มีระยะทาง 720 เมตร ความกว้าง 4 เมตร โดยมีทางขึ้นลงทั้งหมด 4 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณหน้าโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (ประตู 3), จุดที่ 2 บริเวณหน้าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ประตู 5), จุดที่ 3 บริเวณแยกหลักสี่ และจุดที่ 4 เชื่อมต่อกับสถานีหลักสี่ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน เพื่ออำนวยความสะดวกสูงสุดแก่ประชาชนที่ใช้บริการทางเดินลอยฟ้า (Skywalk) เพื่อข้ามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพูและทางยกระดับข้ามถนนวิภาวดี-รังสิต รวมถึงมีการเปลี่ยนระดับการเดินทางเชื่อมต่อ ประกอบด้วย บันไดหลักทุกจุด บันไดเลื่อนขึ้นและลงทุกจุด และลิฟต์สำหรับผู้พิการทุกจุด พร้อมทั้งมีทางลาดสำหรับผู้พิการที่บริเวณฝั่งด้านทิศใต้ ตลอดจนยังมีการสำรองรถกอล์ฟ เพื่อให้บริการรับ-ส่งประชาชนที่ต้องการเดินทางจากรถไฟชานเมืองสายสีแดง สถานีหลักสี่ ไปยังพื้นที่ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ท้ายนี้ การรถไฟฯ มั่นใจว่าการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้า (Skywalk) เชื่อมต่อระหว่างสถานีหลักสี่
ในโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตามพระดำริ
จะช่วยเพิ่มความสะดวก และความปลอดภัย รวมถึงแก้ไขปัญหาการหาที่จอดรถ ให้กับประชาชนและผู้ใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสี ซึ่งนับเป็นรูปแบบการเดินทางที่สะดวกสบาย ปลอดภัย และประหยัดเวลามากยิ่งขึ้น