21 พฤศจิกายน 2567 ฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเกิดแผลกดทับ จัดกิจกรรมเสวนาและฝึกอบรม หัวข้อ “ รู้วิธีจัดท่า พลิกตัวตามเวลา ลดปัญหา แผลกดทับ ” เนื่องในวันป้องกันแผลกดทับโลก (World Wide Pressure Injury Prevention Day) โดยมีนายแพทย์อดิศร บุญญาภิบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงาน ณ บริเวณโถงชั้น 8 แผนกผู้ป่วยใน อาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง ภายในงานได้จัดเวทีเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อ “ดูแลอย่างไรให้ห่างไกลแผลกดทับ” กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิธีการป้องกันและดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ และการสาธิตวิธีจัดท่าเพื่อลดปัญหาแผลกดทับ โดยแพทย์หญิงชัญญา วุฒิไกรกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พว.สิริมา เจริญภัทรเภสัช พยาบาลวิชาชีพ และ กภ.ธนวัฒน์ หนองตรุต นักกายภาพบำบัด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมกันนี้ได้จัดกิจกรรมเดินรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ลดปัญหาการเกิดแผลกดทับให้กับผู้ป่วยและญาติที่เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ณ หอผู้ป่วยในชั้น 8 Ward 8/1 , 8/2 และ 8/3 แผนกผู้ป่วยนอก อายุรกรรมและศัลยกรรม ชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง และหอผู้ป่วยใน Ward 7 และ Ward 8 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ การเกิดแผลกดทับ (Pressure injury) นับเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของผู้ป่วยที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายได้น้อย โดยเฉพาะผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็ง โดยเมื่อมีอาการในระยะลุกลามและมีการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวหรือทำกิจวัตรประจำวันได้น้อยลง ทำให้เกิดแผลกดทับได้ง่าย รวมทั้งในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยหรือผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียง มักเกิดปัญหาแผลกดทับด้วยเช่นกัน และจากสถิติข้อมูลการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 เป็นแผลกดทับที่เกิดมาจากที่บ้าน โดยเป็นแผลกดทับตั้งแต่ระดับความรุนแรง 1 – 4 โดยบางรายมีการติดเชื้อจากแผลกดทับร่วมด้วย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับความเจ็บปวดมากขึ้น และหลายครั้งกลายเป็นแผลติดเชื้อดื้อยา ส่งผลต่อระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญด้านการป้องกันการเกิดแผลกดทับ คือ การพลิกตะแคงตัวตามเวลาอย่างถูกต้อง การเข้าใจวิธีการดูแลเมื่อเกิดแผลกดทับจะช่วยลดความรุนแรง และทำให้แผลกดทับหายเร็วขึ้น โดยหากเรียนรู้และป้องกันการเกิดแผลกดทับได้ ก็จะช่วยลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วย