มะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่ คือโรคที่พบมากเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งทุกชนิดและเป็นสาเหตุการตายหนึ่งใน 3 อันดับแรกของโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในคนไทย ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้จากการขับถ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป
เกิดจากการมีก้อนหรือติ่งเนื้อลักษณะผิดปกติเกิดขึ้นด้านในเยื่อบุผิวของลำไส้ใหญ่ โดยที่ลำไส้ใหญ่เป็นอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายท่อ เมื่อมีก้อนเนื้อเกิดขึ้นก็จะทำให้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายในลำไส้ใหญ่เกิดการตีบแคบลง อุจจาระที่เคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่ก็จะออกลำบากมากขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการปวดแน่นท้อง ท้องอืด ร่วมกับอุจจาระที่ออกมามีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นก้อนปกติ ก็จะมีขนาดลำที่เล็กลง ก้อนเนื้อมะเร็งลำไส้ใหญ่จะมีเยื่อบุผิวที่มีลักษณะผิดปกติ ไม่แข็งแรง มีโอกาสเลือดออกได้ง่าย ทำให้ผู้ป่วยสามารถมีเลือดออกปนออกมาในอุจจาระ เป็นผลให้ผู้ป่วยสามารถสังเกตพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้ จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่
ปัจจุบันยังไม่รู้สาเหตุทั้งหมดว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่จากหลักฐานข้อมูลที่มีพบปัจจัยเสี่ยงที่สามารถทำให้มีการดำเนินโรคกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ซึ่งสามารถจำแนกปัจจัยดังกล่าว ออกได้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้และหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ประวัติการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรง เช่น บิดา มารดา และโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- มีประวัติการพบเนื้องอก (Polyps) ในลำไส้ใหญ่มาก่อน หากพบมากหรือขนาดก้อนใหญ่จะมีแนวโน้มเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากกว่าคนปกติ
- ผู้ป่วยที่มีเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และปัจจุบันมีแนวโน้มของอายุที่ลดลงเรื่อย ๆ
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
- การรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือประเภทเนื้อแดง ที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนนานๆ มากเกินไป
- การรับสารพิษเข้าสู่ร่างกายและมีการตกค้างที่ลำไส้ มักพบสารพิษในอาหารประเภท ปิ้ง ย่าง อาหารหมักดอง และ สารเคมีจากผักที่ไม่สะอาด
- ผู้ที่มีประวัติดื่มสุราหรือสูบบุหรี่
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน โดยเฉพาะผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน (มากกว่า 25)
อาการโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
วิธีสังเกตโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เบื้องต้น คือ การขับถ่ายผิดปกติ เนื่องจากลำไส้ใหญ่มีบทบาทในการทำหน้าที่การขับถ่ายอุจจาระ ถ้าเริ่มมีอาการขับถ่ายอุจจาระที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีท้องเสียเรื้อรัง อาการท้องผูกที่แนวโน้มเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ หรืออาการสลับกันระหว่างท้องเสียและท้องผูกที่แนวโน้มไม่ดีขึ้นหรือเป็นเรื้อรัง มีเลือด หรือเป็นมูกปนมาในอุจจาระ ส่วนอาการที่สงสัยอย่างอื่นเพิ่มเติมจากการขับถ่ายหรืออุจจาระที่ผิดปกติที่สามารถพบได้ เช่น มีอาการปวดแน่นท้อง น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ มีภาวะซีดเกิดขึ้น เมื่อมีอาการเช่นนี้ ควรต้องรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติของการขับถ่าย ลักษณะอุจจาระที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงหาสาเหตุของอาการผิดปกติอื่น ๆ
ทั้งนี้ในกลุ่มที่ไม่มีอาการดังกล่าวเบื้องต้น แต่ถ้าพบว่ามีปัจจัยเสี่ยง เช่น ประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และอายุ 50 ปีขึ้นไป แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์เพื่อให้ประเมินความเสี่ยงและเริ่มทำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการผิดปกติ
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
แนวทางในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่มีด้วยกันหลายวิธี เช่น
- การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (Stool occult blood test)
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT Colonography)
- การตรวจโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
ทั้งนี้แนะนำให้เข้ารับคำปรึกษา ประเมินหาความเสี่ยง รวมถึงแนะนำรูปแบบในการตรวจคัดกรองที่เหมาะสม ทั้งทราบข้อดี-ข้อเสียในการตรวจแต่ละวิธี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแต่ละบุคคลต่อไป
การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนวทางการรักษามีได้หลายวิธี โดยมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึง เช่น อาการและระยะของโรค ข้อบ่งชี้และข้อบ่งห้ามในเชิงรายบุคคล เป็นต้น โดยอาการแพทย์สหสาขาในการร่วมดูแล เพื่อผลลัพธ์ในการรักษาที่ประสบผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพ เบื้องต้นวิธีการรักษาอาจจะจำแนกได้ ดังนี้
- การผ่าตัด เป็นวิธีที่ดีที่สุดหลังจากแพทย์ได้พบว่ามีชิ้นเนื้อในลำไส้จากการตรวจด้วยวิธีส่องกล้องทางทวารหนัก และมีความจำเป็นต้องผ่าตัด
- การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
- การฉายแสง (รังสีรักษา)
การป้องกันการเกิดมะเร็ง
- เข้ารับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยควรเริ่มทำตั้งแต่อายุ 50 ปี ขึ้นไปในคนทั่วไปปกติ แต่ถ้ามีประวัติครอบครัวที่มีโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่มีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้เข้ามารับคำปรึกษาเพื่อเริ่มต้นในการคัดกรองในระยะเวลาที่เหมาะสม
- ลดปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้อื่น ๆ เช่น การงดสูบบุหรี่ การงดดื่มแอลกฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และลดน้ำหนักในกรณีที่เริ่มภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ที่กำหนด
ติดต่อสอบถามหรือนัดหมาย โทร 0 2576 6848 , 0 2576 6801
คลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ชั้น 12 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
เปิดบริการ วันอังคาร – พฤหัสบดี เวลา 08.00 – 12.00 น.
นพ.วรวัฒน์ แสงวิภาสนภาพร
แพทย์เฉพาะทาง สาขาอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์