- โรคเกาต์คืออะไร
โรคเกาต์ คือ โรคที่เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูงร่วมกับมีอาการที่เกิดจากการตกผลึกของเกลือยูเรตในเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะข้อหรือเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ ทำให้เกิดอาการข้ออักเสบแบบเฉียบพลัน เป็นๆ หายๆ ในระยะเรื้อรังจะพบก้อนโทฟายที่เกิดจากการสะสมของผลึกเกลือยูเรตบริเวณผิวหนังรอบๆ ข้อ และขอบใบหูได้ นอกจากนี้ผลึกเกลือยูเรตยังอาจสะสมในเนื้อเยื่อไตและทางเดินปัสสาวะ ส่งผลให้การทำงานของไตบกพร่องและเกิดนิ่วในไตร่วมด้วย
- กรดยูริกคืออะไร
กรดยูริก คือสารที่เป็นผลิตผลปลายทางที่เกิดจากการสลายตัวของสารพิวรีน (purine) โดยสารพิวรีนได้มาจากการที่ร่างกายสร้างขึ้นเอง บางส่วนมาจากการสลายตัวของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย นอกจากนี้ยังได้มาจากอาหารที่รับประทานเข้าไปในแต่ละวันด้วย โดยทั่วไประดับกรดยูริกในเลือดของคนปกติจะไม่คงที่ กล่าวคือจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุและเพศ สำหรับผู้ใหญ่ ระดับกรดยูริกในเลือดจะไม่เกิน 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง และ 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย
- อาการ
- ปวด บวม แดง ร้อน ที่บริเวณข้อและเนื้อเยื่อรอบข้อแบบเฉียบพลัน
- ตำแหน่งข้อที่พบบ่อยสุด คือ ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าตำแหน่งอื่นๆ ที่พบบ่อยรองลงมาได้แก่ข้อหลังเท้า ข้อเท้าข้อเข่า ข้อมือ ข้อนิ้วมือ และข้อศอก
- อาการปวดมักเป็นๆ หายๆ ทีละ 1 – 2 ข้อ
- มักจะเริ่มปวดตอนกลางคืนแบบเฉียบพลัน ใช้เวลาเป็นชั่วโมงแต่มักไม่เกินวัน โดยอาการปวดจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนปวดมากสุดภายในเวลาเพียง 8 -12 ชั่วโมงส่งผลให้ไม่สามารถขยับข้อลุกเดินหรือลงน้ำหนักได้
- การอักเสบของข้อจะดีขึ้นได้เองจนสามารถใช้ข้อได้ตามปกติภายในระยะเวลา1 – 2 สัปดาห์ ในกรณีที่การอักเสบไม่รุนแรงอาจหายเป็นปกติได้ภายใน 1 – 2 วันและเข้าสู่ระยะปลอดอาการ
- ในระยะเรื้อรังถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะพบก้อนโทฟายที่ผิวหนังบริเวณรอบข้อ ใบหู หรือตำแหน่งที่มีการเสียดสีกดทับและสามารถเกิดการทำลายข้อจนข้อผิดรูปตามมาได้
- บุคคลกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรคเกาต์
- เพศชาย
- อายุ: อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปในผู้ชาย และอายุมากกว่า60 ปีขึ้นไปในผู้หญิง
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์และเหล้ากลั่น
- ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และอาหารทะเล
- ผู้ที่ใช้ยาขับปัสสาวะ
- ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน
- ปัจจัยกระตุ้น
- การบาดเจ็บบริเวณข้อ
- การเจ็บป่วยทั่วไป
- การผ่าตัด
- การอดอาหาร
- การดื่มสุรา
- การรับประทานอาหารหรือยาที่มีผลต่อระดับยูริกในเลือด
- อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์
- อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ เครื่องดื่มหรืออาหารที่มีน้ำตาลฟรุกโตสและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- อาหารที่ควรจำกัดปริมาณ ได้แก่ เนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อแกะ อาหารทะเลน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ของหวาน
- อาหารที่สนับสนุนให้รับประทาน ได้แก่ นมพร่องมันเนยหรือนมไขมันต่ำและผัก
***ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การเลือกรับประทานอาหารในผู้ป่วยโรคเกาต์ในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมกล่าวคือ ผัก ถั่ว พืชฝักถั่ว รวมถึงเนื้อสัตว์ปีก เช่น ไก่ เป็ด สามารถรับประทานได้โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์***
- การรักษา
- ช่วงที่มีข้ออักเสบ
- พักการใช้งานของข้อ
- งดการบีบนวดบริเวณข้อ
- แนะนำประคบเย็นที่ข้อเพื่อลดอาการปวด
- รับประทานยาแก้ปวดแก้อักเสบตามแพทย์สั่ง
- ช่วงที่ไม่มีข้ออักเสบ
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นข้ออักเสบเกาต์
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันข้ออักเสบกำเริบซ้ำ
- ช่วงที่มีข้ออักเสบ
- การปฏิบัติตัว
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับโรคเกาต์
- หยุดสูบบุหรี่
- ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอถึงแม้จะไม่มีอาการข้ออักเสบ
- มาตามนัดเพื่อติดตามอาการ
พญ.วิภาดา ไกรเกรียงศรี
คลินิกโรคข้อและรูมาติสซั่ม
แผนกบริการผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ชั้น 3