การดูแลรักษาสายตาในยุค 4.0

  1. คนที่มองจอเยอะ แล้วรู้สึกว่ามองไม่ชัด แต่พอไปวัดสายตาก็ไม่ได้สั้นลง แบบนี้เป็นอะไร

ตอบ : พอมองไม่ชัด คนส่วนใหญ่จะคิดว่าสายตาสั้น แต่จริงๆ แล้ว อาการแบบนี้เรียกว่า โรคตาแห้ง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ปัจจัยสำคัญคืออายุมากขึ้น และพบบ่อยมากในคนที่จ้องมือถือ หรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ภาวะฝุ่นละออง หรือการใช้เครื่องสำอางตกแต่งเปลือกตา ทำให้น้ำตาระเหยมากขึ้น ไขมันเปลือกตาอุดตัน ทำให้ขาดน้ำมาหล่อเลี้ยงที่ดวงตา ทำให้เกิดอาการไม่สบายตา น้ำตาไหล แสบตา เคืองตา มีฝุ่นในตา

  1. การรักษาทำอย่างไรบ้าง

ตอบ : อาจเริ่มด้วยการปรับพฤติกรรม ใช้สายตาให้ลดลง มองจอให้น้อยลง มีช่วงที่พักสายตาบ้าง หลีกเลี่ยงจุดที่มีลม ฝุ่นเยอะ นอกจากนี้อาจมียาช่วย หลักๆ คือ กลุ่มน้ำตาเทียมช่วยหยอดเพื่อชดเชยน้ำตาที่น้อยลง นอกนั้นก็อาจจะเกี่ยวกับความสะอาดของเปลือกตาด้วย เนื่องจากไขมันที่เปลือกตาจะเป็นตัวป้องกันการระเหยของน้ำตา การที่ไขมันของเปลือกตาผลิตได้น้อยลง หรือมีการอุดตันของไขมันที่เปลือกตา ก็จะทำให้น้ำตาระเหยได้ง่าย

  1. ข้อสังเกตโรคตาแห้ง

ตอบ : ถ้ารู้สึกว่ามีอาการผิดปกติ เช่น อ่านหนังสือ มองจอคอมพิวเตอร์ หรือ จอมือถือได้น้อยลง ก็อาจต้องมาดูแล้วว่าตาแห้งหรือไม่ ตั้งแต่วัยกลางคน หรือตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปจะเริ่มมีอาการกันเยอะมากขึ้น คือถ้าทำงานทั้งวัน ใช้สายตาทั้งวันก็มีโอกาสเป็นโรคตาแห้งสูง

  1. มาถึงสายตาผิดปกติ สั้น ยาว เอียง ซึ่งเกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย จริงๆ แล้วเกิดจากอะไร

ตอบ : สายตาผิดปกติเป็นภาวะที่การโฟกัสแสงที่อยุ่ในตาผิดปกติ มีอยู่ 3 แบบ คือ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง สายตาสั้น คือ โฟกัสก่อนที่จะถึงจุดรับภาพ ทำให้เรามองไกลได้ไม่ชัด สายตายาว คือ คนไข้จะมองไม่ชัดทั้งระยะใกล้และระยะไกล สายตาเอียง คือ แสงที่อยู่ในแต่ละแกนที่เข้าไปในตาเรา โฟกัสคนละตำแหน่งกัน อาจจะเห็นภาพชัดเพียงบางแกน

  1. แนวทางการรักษาสายตาผิดปกติ

ตอบ : มีทั้งแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด การรักษาโดยการไม่ผ่าตัดก็คือการใส่คอนแทคเลนส์ ใส่แว่น แต่สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใส่แว่น ใส่คอนแทคเลนส์ก็จะต้องผ่าตัด ก็มีอยู่ 2 กลุ่ม คือผ่าตัดแก้ที่ตัวกระจกตา  และผ่าตัดแก้ที่ตัวเลนส์ตา โดยหลักๆ แล้วเราจะแก้ที่ตัวกระจกตาก่อน คือ การทำเลเซอร์แก้ไขสายตา เช่น Lasik PRK ส่วนการแก้ไขที่เลนส์ตาก็จะเป็นการใส่เลนส์เสริมเข้าไปในตาเพื่อแก้ไขสายตา เหมาะสำหรับคนที่สายตาสั้นเยอะๆ ที่ไม่สามารถทำ Lasik PRK ได้

  1. วิธีการดูแลสายตา

ตอบ : บางพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดสายตาผิดปกติ เช่น การใช้สายตาในระยะใกล้ ๆ นาน ๆ โดยเฉพาะในเด็กการเล่นแท็บเล็ต อาจกระตุ้นให้เกิดสายตาสั้น ผู้ปกครองต้องระวังในจุดนี้

บทความโดย นายแพทย์ประธาน ปิยสุนทร

จักษุแพทย์สาขากระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา

คลินิกจักษุ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

โทรศัพทย์  0 2765 5734