การปลูกถ่ายไตคืออะไร
การปลูกถ่ายไต คือ การบำบัดทดแทนไตในการรักษาภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายวิธีหนึ่ง โดยนำไตที่ยังทำงานดีหนึ่งข้างจากผู้บริจาคที่มีชีวิตหรือผู้บริจาคที่เสียชีวิตภาวะสมองตาย นำมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยให้ผลในการรักษาดีกว่าและประสบความสำเร็จมากกว่าการบำบัดทดแทนไตวิธีอื่น ๆ เช่น การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและการล้างไตทางช่องท้อง
ประโยชน์ของการปลูกถ่ายไตที่เหนือกว่าการบำบัดทดแทนไตชนิดอื่น ๆ
ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต จะมีการทำงานของไตที่ใกล้เคียงกับผู้ป่วยที่มีไตปกติทั้งสองข้าง และเหนือกว่าการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีอื่น ได้แก่ การกรองของเสีย การแลกเปลี่ยนดูดกลับน้ำและเกลือแร่ ผลิตฮอร์โมน เป็นต้น อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การติดเชื้อและโรคแทรกซ้อนจากการฟอกไต ลดการจำกัดชนิดอาหาร รับประทานอาหารได้มากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันและทำงานได้มากขึ้น
การปลูกถ่ายไตมี 2 ชนิด
- การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคมีชีวิต ผู้บริจาคไตต้องเป็นญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือเป็นสามีภรรยาที่แต่งงานตามหลักเกณฑ์ที่ระบุตามกฎหมาย การปลูกถ่ายไตโดยวิธีนี้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่มีภาวะไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ยังไม่เข้ารับการบำบัดทดแทนไตโดยการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง
- การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคสมองตาย ในทางการแพทย์และกฎหมายถือว่าเป็นผู้เสียชีวิตแล้ว ที่มีการทำงานของไตยังปกติ โดยผ่านการบริจาคให้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยซึ่งจะเป็นองค์กรกลางที่จัดสรรให้กับผู้รอรับไตอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้การปลูกถ่ายไตโดยการซื้อขายไตจากบุคคลอื่นที่มีชีวิตอยู่ซึ่งไม่ใช่ญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือสามีภรรยาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผิดกฎหมายและจรรยาบรรณทางการแพทย์และศีลธรรม
โอกาสของการประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไต เป็นอย่างไร
ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการรักษาที่ดีขึ้น มีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการการเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อไตและเลือดของผู้บริจาคและผู้รับบริจาค มีการผ่าตัดโดยใช้วิธีส่องกล้อง มียากดภูมิคุ้มกันชนิดรับประทานที่มีประสิทธิภาพ ทำให้โอกาสประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตสูงกว่าในอดีตมาก แต่อย่างไรก็ตาม ผลสำเร็จในการปลูกถ่ายไตขึ้นกับหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือชนิดของไตที่ได้รับ ถ้าเป็นไตที่มาจากญาติพี่น้องที่เนื้อเยื่อสามารถเข้ากันได้ และมาจากบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ โอกาสที่ไตจะทำงานได้เป็นปกติ และทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้นก็มีสูงขึ้นผลสำเร็จใน 1 ปี และ 5 ปี อยู่ประมาณ 95% และ 90% ตามลำดับ แต่ถ้าเป็นไตที่มาจากบุคคลอื่น หรือมาจากผู้ที่เสียชีวิตแล้ว แม้โอกาสที่ไตจะทำงานได้เป็นปกติก็จะลดลง แต่ก็ยังคงเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากผลสำเร็จใน 1 ปี และ 5 ปี อยู่ประมาณ 85% และ 70% ตามลำดับ
ผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับบริการปลูกถ่ายไตต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
- เป็นผู้ป่วยสัญชาติไทยที่มีโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย
- ไม่มีโรคประจำตัวอันเป็นอุปสรรคต่อการรักษา ได้แก่ ไม่เป็นมะเร็งที่ยังรักษาไม่หายขาด ไม่มีการติดเชื้อ HIV ไม่มีโรคที่รุนแรงที่เป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัด ไม่ป่วยทางจิต
- ไม่มีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะที่แก้ไขไม่ได้
- ต้องผ่านการประเมินคุณสมบัติก่อนการผ่าตัดจากทีมแพทย์ผู้รักษาผู้ทำการปลูกถ่ายไต
ปัจจุบันสิทธิการรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ประกันสังคม และประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้การครอบคลุมสิทธิในการปลูกถ่ายไต ตามหลักเกณฑ์ของแต่ละกองทุน
ผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับบริการปลูกถ่ายไตและผู้ที่ต้องการบริจาคไต ต้องไปติดต่อที่ใด
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีความประสงค์ต้องการลงทะเบียนเข้ารับบริการปลูกถ่ายไต และญาติที่มีความประสงค์ต้องการบริจาคไต สามารถขอข้อมูลเบื้องต้นได้จากอายุรแพทย์โรคไตที่ดูแลผู้ป่วยอยู่เดิมทุกโรงพยาบาล โดยจะส่งต่อการรักษาไปยังโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
ศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
ชั้น 3 ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (ชั่วคราว)
เบอร์โทรศัพท์ 0 2576 6192-3