โรคหลอดเลือดสมองตีบคืออะไร?
โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออัมพฤกษ์ อัมพาต (stroke) คือโรคที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ทำให้สมองขาดเลือดโดยฉับพลัน เมื่อเซลล์สมองเสียหาย คนไข้จะมีอาการทางระบบประสาทตามตำแหน่งที่มีการขาดเลือด
การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ
การกายภาพฟื้นฟู การกายภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปดำรงชีวิตให้ได้ดีที่สุด ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกที่เน้นการฝึกในแขนขาข้างที่มีอาการอ่อนแรง เพื่อให้ฟื้นฟูกำลังและป้องกันข้อต่อติด รวมถึงการฝึกการพูดและประเมินการกลืนเพื่อป้องกันการสำลัก ในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านภาษาร่วมด้วย ควรให้กำลังใจและพยายามให้ผู้ป่วยได้พยายามสื่อสารด้วยตัวเอง
โภชนาการสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
การใช้ยาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ยาที่มีความสำคัญในโรคหลอดเลือดสมองตีบได้แก่ ยาต้านเกล็ดเลือดเลือด(antiplatelet) และยาต้านการแข็งตัวของเลือด(anticoagulant) โดยทั่วไปผู้ป่วยส่วนมากจะได้ยาต้านเกล็ดเลือด(antiplatelet) เป็นหลัก แต่ในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจะได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด(anticoagulant) ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการเลือกให้ยาในผู้ป่วยแต่ละราย
การทานยามีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบในครั้งต่อไป จำเป็นต้องทานตลอดชีวิต แม้ว่าอาการโรคหลอดเลือดสมองจะเป็นแค่ชั่วคราวหรืออาการหายแล้วก็ตาม โดยการทานยาจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบซ้ำได้มากกว่าคนที่ไม่ทานยา
นอกจากกลุ่มยาต้านเกล็ดเลือดและยาต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยจะได้รับยาลดระดับไขมันในเลือดทานร่วมด้วยแม้ว่าจะไม่ได้มีค่าไขมันในเลือดสูงผิดปกติ รวมถึงจะได้รับยาเคลือบกระเพาะอาหารเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด
ยาต้านเกล็ดเลือด (antiplatelet)
เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ได้แก่ ยาแอสไพริน (aspirin) ยาโคลพิโดเกรล (clopidogrel), ซิลอสตาซอล (cilostazol)
ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant)
ยาต้านการแข็งตัวของเลือด คือยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้ากว่าปกติ ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในร่างกาย โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดสั่นพริ้ว (atrial fibrillation) หรือ โรคลิ้นหัวใจรั่ว (Valvular heart disease)จะได้รับยากลุ่มนี้ ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ยา วาร์ฟาริน (warfarin), ดาบิกาแทรน (dabigatran), ไรวารอคซาแบน (rivaroxaban), เอพิซาแบน (apixaban), อีดอกซาแบน (edoxaban)
อย่าละเลย ภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบต้องเผชิญความผิดปกติของร่างกาย ไม่สามารถดูแลหรือช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนเดิม ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นมาได้ ภาวะซึมเศร้าสามารถเกิดได้ตั้งแต่กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ไปยังผู้ป่วยที่มีอาการมาก โดยความรุนแรงของอาการซึมเศร้าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่งรอยโรคในสมอง สภาพแวดล้อมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาด้านการสื่อสาร ผู้ดูแลควรสังเกตอาการที่สงสัยภาวะซึมเศร้าได้แก่ บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ความคิดอ่านถดถอย เบื่ออาหารหรือกินจุมากขึ้นผิดปกติ นอนไม่หลับ อ่อนเพลียไม่มีแรง ไม่ร่วมมือในการกายภาพฟื้นฟู รู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ อยากตาย โดยหากมีอาการเหล่านี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพราะโดยมากหากได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะลดอาการลงได้มากและหายได้