การแพทย์แผนไทยประยุกต์

การแพทย์แผนไทย (Thai Traditional Medicine) เป็นวิถีการดูแลสุขภาพตามความรู้หรือตำราที่ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อมา มีบทบาทในการดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งด้านการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ โดยปัจจุบันมีการพัฒนานำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และ วิทยาศาสตร์การแพทย์มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการแพทย์แผนไทย ที่เรียกว่า “การแพทย์แผนไทยประยุกต์”

หัตถการเพื่อรักษาและฟื้นฟูสุขภาพ ได้แก่

นวดกดจุดรักษาโรค

เป็นการนวดไทยแบบราชสำนัก ซึ่งเป็นหนึ่งในศาสตร์ทางการแพทย์แผนไทยเพื่อการบำบัดรักษาโรค ป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพ โดยจะช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด น้ำเหลืองและระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อ คลายตัว ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย โดยควรได้รับการซักประวัติตรวจร่างกาย และประเมินข้อห้าม ข้อควรระวัง ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์แผนไทยผู้ทำการรักษาก่อนทุกครั้ง

กลุ่มอาการที่สามารถรักษาด้วยการนวดกดจุดรักษาโรค ได้แก่

  • กลุ่มอาการปวดบริเวณต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดคอบ่าไหล่ ปวดหลัง สะโพก แขน ขา กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง ข้อติด ข้อเสื่อม เหน็บชา ตะคริวน่อง ยอก ข้อพลิก ข้อแพลงและอื่นๆ
  • อัมพฤกษ์ อัมพาต รวมถึงอัมพาตใบหน้า และกล้ามเนื้ออ่อนแรงอื่นๆ
  • ปวดศีรษะไมเกรน หรือลมปะกัง
  • ท้องผูก มีเถาดาน ปรับสมดุลร่างกาย
  • โรคโลหิตสตรี เช่น อาการปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน มดลูกด่ำ  มดลูกลอย มดลูกเคลื่อน มดลูกตะแคง
  • ฟื้นฟูมารดาหลังคลอด และนวดกระตุ้นน้ำนม

ห้ามนวด ในกรณีต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส หรือโรคติดเชื้อเฉียบพลัน หรือโรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ
  • ความดันโลหิตสูง ≥ 160/100 มิลลิเมตรปรอท ที่มีอาการหน้ามืด ใจสั่น ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้อาเจียน
  • บริเวณที่มีกระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ข้อเคลื่อน รวมถึงผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนรุนแรง
  • บริเวณที่มีแผลเปิด มีการอักเสบจากการติดเชื้อ มีหลอดเลือดดำอักเสบ (DVT) รวมถึงบริเวณที่เป็นมะเร็ง หรือบริเวณที่ผ่าตัดภายในระยะเวลา 1 เดือน

ควรระวังการนวด ในกรณีต่อไปนี้

  • เด็ก หญิงมีครรภ์ หรือผู้สูงอายุ สามารถทำได้โดยอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์แผนไทยผู้ทำการรักษา
  • ผู้ที่เป็นโรคของหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดแดงโป่งพอง หลอดเลือดอักเสบ หลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) หรือผู้ที่มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด รวมทั้งกินยาละลายลิ่มเลือด
  • มีภาวะกระดูกพรุน กระดูกบาง หรือเคยได้รับการผ่าตัด ใส่เหล็ก หรือข้อเทียม
  • มีบริเวณบาดแผลที่ยังไม่หายสนิทดี หรือ บริเวณที่ทำศัลยกรรมตกแต่ง

ประคบสมุนไพร 

เป็นการประคบตามส่วนต่างๆของร่างกาย ส่วนใหญ่มักนิยมประคบหลังจากการนวด  โดยช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยลดอาการบวม บรรเทาการอักเสบของกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ในหญิงหลังคลอดช่วยลดอาการตึงคัดของเต้านมด้วย 

กลุ่มอาการที่สามารถรักษาด้วยการประคบสมุนไพร ได้แก่

  • กลุ่มอาการที่ได้รับการนวดกดจุด เพื่อบำบัดรักษาโรค และฟื้นฟูสุขภาพ  โดยการประคบสมุนไพรจะช่วยส่งเสริมการนวดให้ผลการรักษาดีขึ้น
  • ผู้ที่มีอาการปวดเมื่อยทั่วร่างกาย และผู้ที่ปวดกล้ามเนื้อภายหลังออกกำลังกาย

ห้ามประคบสมุนไพร ในกรณีต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส หรือโรคติดเชื้อเฉียบพลัน หรือโรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ
  • บริเวณที่มีกระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ข้อเคลื่อน
  • บริเวณที่มีแผลเปิด มีการอักเสบจากการติดเชื้อ รวมถึงบริเวณที่เป็นมะเร็ง
  • บริเวณที่มีการอักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน) จากอุบัติเหตุในช่วง 24 ชั่วโมงแรกให้ใช้ประคบเย็นแทน

ควรระวังการประคบสมุนไพร ในกรณีต่อไปนี้

  • เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยอัมพาต และผู้ป่วยที่มีอาการชา ควรระมัดระวังเรื่องความร้อน
  • ไม่ใช้ลูกประคบที่ร้อนจนเกินไป โดยเฉพาะผิวบริเวณที่บาง
  • ผู้ที่แพ้สมุนไพร และส่วนประกอบอื่นๆในลูกประคบ

อบไอน้ำสมุนไพร

เป็นการนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายๆ ชนิดมาต้มเพื่อให้เกิดไอน้ำขึ้นภายในตู้อบ โดยทางทฤษฎีการแพทย์แผนไทย ช่วยกระตุ้นการทำงานของปิตตะ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของวาตะ จึงช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการชาตามปลายเท้า ปลายนิ้วมือ แขน และขา  ช่วยเปิดทางเดินหายใจให้หายใจโล่งขึ้น บรรเทาอาการคัดจมูกในผู้ที่เป็นหวัด โรคภูมิแพ้อากาศ หรือโรคหอบหืดที่ไม่รุนแรง สำหรับมารดาหลังคลอด ช่วยขับน้ำคาวปลาและปรับฮอร์โมน นอกจากนี้เป็นการขับของเสียทางเหงื่อ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทำให้ผิวพรรณสุขภาพดี และยังช่วยลดไขมันส่วนเกินของร่างกายได้อีกด้วย

ข้อห้ามในการอบไอน้ำสมุนไพร ในกรณีต่อไปนี้

  • มีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส หรือหลังฟื้นไข้ใหม่ ๆ
  • ผู้ที่มีความดันโลหิต ≥ 160/100 มิลลิเมตรปรอท ที่มีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้ อาเจียน
  • มีอาการอ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร  หรือหลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ไม่เกิน 30 นาที
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคลมชัก โรคลมบ้าหมู โรคหอบหืดระยะรุนแรง โรคไตชนิดรุนแรง โรคหัวใจ มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หอบเหนื่อย รวมไปถึงผู้ที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เช่น วัณโรค
  • ผู้ที่มีบาดแผลเปิด มีการอักเสบของบาดแผล โรคติดเชื้อทางผิวหนัง หรือมีแผลที่ยังไม่หายสนิทดี
  • หญิงขณะมีประจำเดือน หรือตั้งครรภ์
  • ผู้ที่แพ้สมุนไพร หรือแพ้ความร้อน

ควรระวังการอบไอน้ำสมุนไพร ในกรณีต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 หรือสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท มีความเสี่ยงต่อการเป็นลมหมดสติ ต้องสังเกตอาการและดูแลอย่างใกล้ชิด
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน  
  • สตรีหลังคลอดไม่เกิน 1 สัปดาห์
  • ในขณะอบไอน้ำสมุนไพร หากมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ควรหยุดทันที 

เผายาสมุนไพร

เป็นเวชปฏิบัติแผนไทยอย่างหนึ่ง ที่ใช้หลักการเพิ่มธาตุไฟเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยให้ความร้อนผ่านเครื่องยาสมุนไพรในบริเวณที่ต้องการรักษาโรค โดยใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนเป็นส่วนประกอบหลักของตัวยา  เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะธาตุไฟหย่อน การเผายาสมุนไพรโดยทั่วไปมักทำบริเวณมัดกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ เช่น แผ่นหลัง ขา หรือเผายาเพื่อรักษาอาการเฉพาะจุด เช่น หัวเข่า หน้าท้อง (รอบสะดือ) อันเป็นจุดกำเนิดของเส้นประธานสิบตามหลักแพทย์แผนไทย

กลุ่มอาการที่สามารถรักษาด้วยการเผายาสมุนไพร ได้แก่

  • อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ท้องผูกไม่มีลมเบ่ง
  • กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อหลัง ปวดเข่า ลมลงล่างหย่อน เหน็บชา ตะคริว
  • โรคโลหิตสตรี ได้แก่ ปวดท้องประจำเดือน
  • นอนกรนจากการมีเสมหะในทรวงอก

ข้อห้ามและข้อควรระวังการเผายา ในกรณีต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีไข้ กำเดากำเริบ โดยประเมินจากแพทย์แผนไทยผู้ทำการรักษา
  • ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอยู่ในขณะนั้น (ไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท)
  • ผู้ที่เป็นเบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต ควรระวัง เนื่องจากรับความรู้สึกได้ช้า
  • ผู้ที่มีแผลผ่าตัด หรือแผลเปิด
  • ผู้ที่มีภาวะทางจิตเวช หรือรับประทานยาทานจิตเวช
  • ผู้ที่แพ้แอลกอฮอล์ แพ้ยาสมุนไพร หรือผู้ที่ทนความร้อนไม่ได้

พอกยาสมุนไพร

การพอกยาด้วยสมุนไพรเป็นการรักษาทางการแพทย์แผนไทย มีทั้งตำรับยาที่มีฤทธิ์ร้อนและฤทธิ์เย็น โดยนำสมุนไพรหลายชนิดที่มีรสยา สรรพคุณตัวยา ที่ช่วยในการรักษาอาการปวด ลดการอักเสบ นำมาใช้พอกตามบริเวณข้อต่อกระดูกของร่างกาย เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อไหล่ ข้อมือหรือบริเวณแนวกล้ามเนื้อส่วนอื่นของร่างกายที่มีอาการปวด บวม แดง ร้อน เพื่อลดอาการอักเสบในบริเวณนั้น ๆ และสามารถนำมาพอกบริเวณดวงตา และศีรษะ เพื่อลดความร้อนบริเวณดวงตาและศีรษะ ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ และปวดกระบอกตา

กลุ่มอาการที่สามารถรักษาด้วยการพอกยาสมุนไพร ได้แก่

  • ปวดตา ตาล้า แสบตาเมื่อทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือขณะเจอแสง
  • ปวดศีรษะ และกระบอกตาจากไมเกรน
  • ปวดเข่า ข้อ หรือกล้ามเนื้อที่มีอาการอักเสบต่าง ๆ

ห้ามพอกยาสมุนไพร ในกรณีต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีบาดแผลเปิด โรคติดเชื้อทางผิวหนัง แผลผ่าตัด หรือมีแผลที่ยังไม่หายสนิทดี
  • ผู้ที่แพ้สมุนไพร

ทับหม้อเกลือ

การทับหม้อเกลือเป็นวิธีการหนึ่งของการดูแลสุขภาพในมารดาหลังคลอด ซึ่งจะช่วยขับน้ำคาวปลา ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น โดยความร้อนจะช่วยเผาผลาญไขมันที่หน้าท้อง ช่วยให้หน้าท้องยุบ แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ทั้งยังช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนโลหิต ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน โดยการใช้หม้อทะนนใส่เกลือ ตั้งไฟให้ร้อน วางบนสมุนไพรห่อด้วยผ้า แล้วนำไปนาบบริเวณหน้าท้อง หลัง และขา ปกติจะทำได้หลังคลอดแล้ว 7 วัน ในกรณีหญิงที่ผ่าคลอดต้องรอให้ครบ 1 เดือนก่อนจึงทับหม้อเกลือได้

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการทับหม้อเกลือ

  • ห้ามทับหม้อเกลือในสตรีมีครรภ์ หรือสตรีหลังคลอดในกรณีที่มีการปวดท้องรุนแรง มีไข้ กรณีที่สงสัยว่าอวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บหรือมีการอักเสบ หรือภาวะตกเลือด
  • ไม่ทับหม้อเกลือ หลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ และต้องระมัดระวังปุ่มกระดูกต่างๆ เช่น ลิ้นปี่ ชายโครง กระดูกเชิงกราน กระดูกสะโพก หัวเหน่า กระดูกสันหลัง เป็นต้น เพราะอาจเกิดการช้ำระบมได้ง่าย
  • หลังจากทับหม้อเกลือเสร็จใหม่ๆ ไม่ควรลุกนั่งหรือยืนทันที เพราะอาจทำให้มีอาการหน้ามืดได้