โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) หรือที่มักเรียกกันว่า “โรคถุงลมโป่งพอง” เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเกิดจากการที่เราหายใจเอามลภาวะที่เป็นพิษ ซึ่งอาจอยู่ในรูปก๊าซหรือฝุ่นเข้าไป ทำให้มีการระคายเคือง เกิดการอักเสบและมีการทำลายระบบทางเดินหายใจคือ หลอดลม เนื้อปอด และหลอดเลือดปอด โดยแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ โรคถุงลมโป่งพอง (Pulmonary emphysema) และโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis)
สาเหตุของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ควันบุหรี่ เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของโรคนี้ โดยเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานานจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น รวมทั้งผู้ที่ได้รับควันบุหรี่แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่เองก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน
- มลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นควันที่มีอนุภาคเล็กๆหรือก๊าซ ควันพิษ สารเคมี และที่สำคัญคือการเผาไหม้เชื้อเพลิงทั้งในการประกอบอาหารและการขับเคลื่อนเครื่องจักรต่างๆ
- ลักษณะทางพันธุกรรม
อาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
ช่วงแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการใดๆ เมื่อตัวโรคเป็นมากขึ้นจะเริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย เหนื่อยเวลาออกแรง จำกัดการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน บางรายอาจมีอาการไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะโดยเฉพาะในช่วงเช้า ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแน่นหน้าอก หรือหายใจเสียงดังหวีด อาการมักจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หากอาการรุนแรงมากก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยแม้ไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆ ในบางรายอาจมีการกำเริบเฉียบพลัน ทำให้มีอาการเหนื่อยมากขึ้น ต้องนอนพักรักษาที่โรงพยาบาล และหากเป็นมากจนระบบหายใจล้มเหลวก็จะได้รับการใส่เครื่องช่วยหายใจ
นอกจากนี้อาการอื่นที่อาจพบร่วมในโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และบางรายอาจเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับตัวโรค
การวินิจฉัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
การวินิจฉัยโรคอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ได้แก่ ประวัติการสัมผัสปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะการสูบบุหรี่หรือรับฝุ่นควันมาเป็นเวลานาน ร่วมกับมีอาการเหนื่อยหรือไอเรื้อรัง การตรวจร่างกาย ภาพรังสีทรวงอก และการตรวจสมรรถภาพปอดเพื่อยืนยันว่ามีการตีบแคบหรือมีการอุดกั้นของหลอดลม ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่พบความผิดปกติจากการตรวจร่างกายหรือจากภาพรังสีทรวงอกได้
การรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
แบ่งเป็นการรักษาโดยการใช้ยา และการรักษาโดยไม่ใช้ยา
การรักษาโดยการใช้ยา มีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดการกำเริบเฉียบพลัน รวมถึงชะลอการดำเนินโรค ยาหลักที่ใช้ คือยาขยายหลอดลม ซึ่งจะใช้ในรูปของยาพ่นสูด ไม่ใช้ในรูปของยารับประทานเนื่องจากมีผลข้างเคียงมากกว่า ยาต้านการอักเสบ และยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ
การรักษาโดยไม่ใช้ยา ได้แก่ การงดบุหรี่ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และการออกกำลังกายฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและมีภาวะออกซิเจนต่ำอาจต้องให้ออกซิเจนระยะยาว
การป้องกันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีสาเหตุหลักมาจากการสูดสารพิษเข้าไปในร่างกาย ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการงดและหลีกเลี่ยงสารเหล่านี้ เช่น การเลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงหรือสวมหน้ากากป้องกันตัวเองจากควันและสารพิษที่เป็นอันตราย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้จึงควรป้องกันไว้จะดีที่สุด
บทความสุขภาพโดย
แพทย์หญิงสิริภัทร ภัทโรดม
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบการหายใจ และภาวะวิกฤตโรคระบบหายใจ
นายแพทย์พรชัย โอภาสปัญญาสาร
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบการหายใจ และภาวะวิกฤตโรคระบบหายใจ