โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute MYocardium Infraction)
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute Myocardium Infraction) หรือภาษาทั่วไป คือ Heart attack เป็นโรคที่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดมาเลี้ยง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอุดตันกะทันหันจากการเกิดก้อนลิ่มเลือด (Thrombus) อาการจะเกิดขึ้นเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นอาการเตือนที่สำคัญ ปัจจัยที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูงและยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆได้แก่ การสูบบุหรี่ ภาวะกรนรุนแรงหรือหยุดหายใจระหว่างหลับ
อัตราการเสียชีวิตของโรคนี้ค่อนข้างสูง การวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วและรีบให้การรักษาอย่างเร่งด่วนที่สุดจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้อย่างมาก และผู้ป่วยที่เกิดโรคนี้แล้วหนึ่งครั้งก็มีโอกาสจะกลับเป็นซ้ำได้อีก หลักการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่สำคัญที่สุดคือต้องให้การรักษาที่รวดเร็วทันท่วงทีก่อนที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี่ยงจะตายลงในที่สุด
ซึ่งความสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยไม่ได้อยู่ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทีมงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่จะสามารถตรวจวินิจฉัยกราฟหัวใจ (EKG)ได้อย่างรวดเร็วภายใน 10 นาที แพทย์และพยาบาลให้การดูแลเบื้องต้นและมีระบบการประสานส่งต่อผู้ป่วยด้วยความรวดเร็วและปลอดภัย มีการเตรียมพร้อมทั้งทีมงาน เครื่องมือ ทีมผู้ดูแลจากสหสาขาวิชาชีพ อีกทั้งตัวผู้ป่วยเองต้องเกิดความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษา และวิธีที่จะปฏิบัติตัวในการป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ตลอดจนเมื่อมีอาการที่ผิดปกติที่จะตัดสินใจรีบมาโรงพยาบาลหรือโทรศัพท์ติดต่อประสานงานเพื่อขอความช่วยเหลือเบื้องต้น ดังนั้นพยาบาลผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจหรือ Nurse Case Manager หรือ Heart Coordinator นั้น ต้องมีทักษะและศักยภาพในการวิเคราะห์สถานการณ์ ตลอดจนวางแผนการดูแลร่วมกับสหสาขาวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อายุรแพทย์หัวใจ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก รังสีแพทย์หัวใจ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจ วิสัญญีแพทย์หัวใจ พยาบาลชำนาญการด้านต่างๆ นักกายภาพบำบัด โภชนาการ ตลอดจนหน่วยบริการทางการแพทย์ทั้งในและนอกโรงพยาบาล จึงจะช่วยให้กระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยเกิดความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพตลอดจนการให้ข้อมูลต่างๆ เพื่อทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้ความเข้าใจและสามารถจัดการเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการโรคหัวใจ รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพป้องกันการเกิดโรคและอุบัติการณ์โรคหัวใจได้เป็นอย่างดี
จะเห็นได้ว่าบทบาทของ Nurse Case Manager หรือ Heart Coordinator มีขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ที่มิใช่เพียงปฏิบัติหน้าที่ภายในโรงพยาบาลตามตารางเวรที่ได้รับมอบหมายแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมี 3 บทบาทหลัก คือ บทบาทการเป็นผู้จัดการของผู้ป่วยและญาติ บทบาทการเป็นผู้แทนของโรงพยาบาล และบทบาทการเป็นผู้ให้ บริการทางโรงพยาบาล ให้สำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีเป้าหมาย คือ ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาได้รวดเร็วถูกต้อง ตามมาตรฐาน เกิดความปลอดภัยตลอดจนลดภาวะแทรกซ้อนและอันตราย ในทุกๆชีวิตของผู้ป่วย