จริงหรือไม่ PM 2.5 รับเข้าร่างกายระยะยาว เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ?

จริงหรือไม่

PM 2.5 รับเข้าสู่ร่างกายระยะยาว เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ?

บทความโดย แพทย์หญิงชนกพร  เปี่ยมพริ้ง

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด  

เมื่อเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คนกรุงเทพและอีกหลายเมืองใหญ่ในประเทศไทย ต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศเนื่องจากฝุ่นละอองชนิด PM 2.5 ที่เกินระดับมาตรฐานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง หลอดเลือดและอาจกระตุ้นให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันได้

PM2.5 คืออะไร

คือฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมากเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร หรือเล็กกว่า 1 ใน 20 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ โดยมีสาเหตุมาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จากการใช้พลังงานต่าง ๆ เช่น ยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่ การเผาวัชพืช  งานก่อสร้างและขยะปฏิกิริยาเคมีในอากาศ

อันตรายที่เกิดขึ้นจาก PM 2.5

เนื่องจาก PM 2.5 เป็นฝุ่นขนาดเล็กมากที่แขวนลอยอยู่ในบรรยากาศ ทำให้เมื่อหายใจเข้าไป ฝุ่นชนิดนี้จะสามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ปอด ผ่านถุงลมและแทรกซึมเข้าสู่หลอดเลือด กระจายไปยังอวัยวะต่างๆในร่างกาย  ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผลระยะสั้นที่เกิดขึ้นทันที คือทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อของร่างกาย ทำให้มีอาการแสบจมูก แสบตา เจ็บคอ น้ำมูกไหล และอาจจะกระตุ้นให้หลอดลมตีบและเป็นหอบหืดกำเริบเฉียบพลันได้  สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพในระยาว นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังทำให้การทำงานของปอดถดถอย อาจเกิดโรคถุงลมโป่งพองและเพิ่มโอกาสทำให้เกิดมะเร็งปอดได้อีกด้วย

PM 2.5 รับเข้าสู่รางกายระยะยาว เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ จริงหรือไม่

เมื่อฝุ่นละอองในอากาศมีปริมาณมากเกินระดับมาตรฐานนอกจากจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อแล้ว ยังกระตุ้นการหลั่งสารอักเสบทั่วร่างกาย ทำให้เกิดลิ่มเลือดได้ง่ายขึ้น ผนังหลอดเลือดหนาและแข็งตัว ส่งผลให้อวัยวะต่างๆทำงานผิดปกติ ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดเพี้ยน หัวใจถูกกระตุ้นมากขึ้น ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและเสียชีวิตกะทันหันได้  มีรายงานว่าฝุ่นละอองในอากาศที่มีปริมาณมากเกินระดับมาตรฐานสัมพันธ์กับการหนาตัวของผนังหลอดเลือดแดงที่เพิ่มขึ้นและสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด  โดยการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM 2.5 ทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร สัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตจากหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นในประชากรโดยรวม และเพิ่มขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นในกลุ่มที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

วิธีป้องกันและดูแลตนเอง

หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงเช้าระหว่าง 4.00-7.00 น. และช่วงค่ำหลัง 19.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ฝุ่นเข้มข้นที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านควรใส่หน้ากากปิดปากสวมไว้เพื่อป้องกันฝุ่นละอองก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง ถ้าจะให้ดีควรเป็นหน้ากาก N95 ที่ได้มาตรฐานพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง การอยู่ภายนอกอาคารไม่เกิน 10-15 นาทีจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าอากาศเย็นและแห้งจะยิ่งทำให้ฝุ่นลอยขึ้นที่สูง ฉะนั้นฝุ่นจะมีมากกว่าในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ นอกจากนี้ควรทำความสะอาดบ้านทุกวัน เนื่องจากมลภาวะทางอากาศ ควันพิษ ฝุ่นละออง สามารถแทรกซึมและสะสมอยู่ภายในบ้านได้ตลอดเวลา

******************************************************************************

เอกสารอ้างอิง

  • Journal of the American Heart Association vol. 6,11 e007170. 8 Nov. 2017, doi:10.1161/JAHA.117.007170
  • Journal of the American College of Cardiology Oct 2018, 72 (17) 2054-2070; DOI: 10.1016/j.jacc.2018.07.099
  • European Heart Journal, Volume 34, Issue 17, 1 May 2013, Pages 1306–1311
  • Circulation. 2010 Jun 1;121(21):2331-78. doi: 10.1161/CIR.0b013e3181dbece1.

Epub 2010 May 10