“HPV Pride Month” NO HPV NO LIMIT
#ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี
สร้างความปลอดภัยให้ทุกความหลากหลายมีสุขภาพที่ดีที่สุดในแบบฉบับของตนเอง
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย พร้อมเหล่าคนดัง บุ๋น – เปรม กร-Proxie ได๋-ไดอาน่า ร่วมส่งความห่วงใยพร้อมชวนร่วมขบวนแสดงพลังปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนตื่นตัว มีความรู้มีความเข้าใจ ก้าวทันโรคและป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี ลดเสี่ยงมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเอชพีวี ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ตรวจคัดกรองสม่ำเสมอ และฉีดวัคซีนเอชพีวีให้มีภูมิต้านทาน สร้างความปลอดภัยในการใช้ชีวิตให้ทุกความหลากหลายภายใต้พื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนสามารถมีสุขภาพที่ดีที่สุดในแบบฉบับของตนเอง
การติดเชื้อไวรัส HPV เกิดขึ้นได้กับทุกคน
8 ใน 10 คนเคยได้รับเชื้อ HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต
เดือนมิถุนายน นับเป็นโอกาสอันดีซึ่งตรงกับเดือน PRIDE Month โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดบริการวิชาการโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรอบรู้ทางสุขภาพแก่ประชาชน ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวี ภายใต้แคมเปญ HPV PRIDE Month NO HPV NO LIMIT #ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี โดยขยายกลุ่มเป้าหมายในการรณรงค์สู่เพศหลากหลายกับเชื้อ HPV โดยเน้นให้ความสำคัญต่อการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี โดยพบว่ากว่า 8 ใน 10 คนเคยได้รับเชื้อ HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย พบการติดเชื้อ HPV สูงกว่าผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงถึง 2-5 เท่า
เชื้อไวรัส HPV ติดต่อจากทางไหน?
การมีเพศสัมพันธ์คือสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อ HPV การมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าใคร หรือไม่ว่าจะทางไหน หากไม่ใส่ใจป้องกัน ก็อาจมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น ทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ทุกเพศไม่ต่างกัน และทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์มีสิทธิ์ติดเชื้อ HPV ได้ โดยเชื้อไวรัส HPV สามารถติดต่อได้ง่ายจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสเสียดสีระหว่างผิวหนังกับผิวหนัง (Skin-to-skin) ก็สามารถติดได้ ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือช่องปาก เพราะบริเวณอวัยวะนี้เป็นบริเวณที่บอบบาง เป็นเยื่อเมือกที่ไม่มีผิวหนังมาหุ้ม หากผิวหนังบริเวณนี้มีรอยขีดข่วน รอยแผล หรือมีเลือดออก ก็เป็นช่องทางให้เชื้อโรคติดเข้าสู่ร่างกายได้ ดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ทั้งการใส่ถุงยางอนามัยและไม่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน ร่วมกับการป้องกันด้วยการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีน HPV ให้มีภูมิต้านทานเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความปลอดภัยให้ทุกชีวิตไม่สะดุดพบเจอกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายจากการติดเชื้อเอชพีวีเพื่อให้ทุกความหลากหลายสามารถมีสุขภาพที่ดีที่สุดในแบบฉบับของตนเอง
มะเร็งที่มีสาเหตุปัจจัยจากการติดเชื้อไวรัส HPV
HPV ย่อมาจาก Human Papilloma Virus เป็นไวรัสที่ก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก รวมถึงมะเร็งช่องปากและลำคอ และหูดหงอนไก่ ทุกกลุ่มเพศหลากหลายหรือใครก็ตามที่ยังมีเพศสัมพันธ์อยู่ก็มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ HPV ได้ไม่แตกต่างกัน การติดเชื้อ HPV เป็นเหมือนภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการใด ๆ ซึ่งจะแสดงอาการเมื่อลุกลามแล้ว ซึ่งอาจทำให้แพร่ไปสู่ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเชื้อเอชพีวีที่ก่อโรคมีประมาณ 40 สายพันธุ์ แต่มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่ก่อโรคบ่อย ได้แก่ HPV 6, 11 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำทำให้เกิดหูด HPV 16, 18, 58, 52, 45สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมาก โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการติดเชื้อ HPV คือการพัฒนารอยโรคไปสู่มะเร็งชนิดต่าง ๆ ในอนาคตได้
มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบในในสตรีไทยที่พบมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากมะเร็งเต้านม โดยพบผู้ป่วยใหม่ปีละกว่า 9,000 ราย และเสียชีวิตปีละ 4,700 ราย หรือในทุก ๆ 2 ชั่วโมงต้องมี 1 คนที่จากโลกนี้ไป และถือเป็นโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงอันดับ 2 ของผู้หญิงไทยและเป็นที่ทราบกันดีว่าการติดเชื้อเอชพีวีเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 70% และมีความเสี่ยงในการพัฒนารอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 35 เท่า HPV 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58 เป็น 7 สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกที่พบบ่อย โดยวิทยาการทางการแพทย์ได้เจริญก้าวหน้ามีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำหรับสตรีด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงจากการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV DNA) เพื่อจะบอกให้แพทย์ทราบว่าผู้ตรวจเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ ซึ่งการตรวจคัดกรองด้วยวิธีแพปสเมียร์แบบเดิมสามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงในเซลล์ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 10 ปี ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น และบางครั้งกว่าจะตรวจพบก็เข้าสู่มะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว ดังนั้น ในปัจจุบันจึงแนะนำให้สตรีในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือในกลุ่มสตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งสามารถตรวจได้ถึง 14 สายพันธุ์ และสามารถระบุได้ว่าเป็นการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงในการพัฒนารอยโรคหรือไม่ รวมถึงตอนนี้มี HPV Self Sampling ที่สามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยตนเอง เนื่องจากการติดเชื้อ HPV จะไม่แสดงอาการจนกว่าโรคจะพัฒนาจนร้ายแรง แต่หากตรวจหารอยโรคก่อนมะเร็งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้แพทย์ควบคุมความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูก และตัดสินใจเลือกวิธีรักษาโดยมีข้อมูลที่ถูกต้อง
มะเร็งทวารหนัก คือ มะเร็งที่จะมีติ่งหรือก้อนที่ทวารหนัก บางรายอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือด เจ็บก้น อาการคันผิดปกติบริเวณทวารหนัก มีเลือดออก มีก้อนเนื้อขนาดเล็ก การขับถ่ายผิดปกติไปจากเดิม ต่อมน้ำเหลืองโต ขาหนีบบวมได้ ซึ่งอาการใกล้เคียงกับริดสีดวง การติดเชื้อ HPV ก็เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญของการก่อโรคมะเร็งทวารหนักในกลุ่มผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก โดยในกลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย พบว่ามีการกำจัดเชื้อ HPV ที่บริเวณทวารหนักได้ต่ำกว่าในกลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงทำให้มีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งทวารหนักได้สูงกว่าถึง 20 เท่า
มะเร็งช่องปากและลำคอ คือ ก้อนเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นที่อวัยวะในบริเวณช่องปาก ได้แก่ ริมฝีปาก เหงือก ลิ้นไก่ กระพุ้งแก้ม เพดานปากทั้งเพดานอ่อนและเพดานแข็ง ต่อมทอนซิล กระดูกขากรรไกร ส่วนบนของลำคอ และอวัยวะที่พบว่าเป็นมะเร็งได้บ่อย คือ ลิ้น และพื้นปากใต้ลิ้น ซึ่งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า คอหอยส่วนบนหลังช่องปาก เป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงและอันตรายหากตรวจพบในระยะลุกลาม ทำให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและจิตใจอย่างมาก ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การสูบบุหรี่หรือยาสูบ และการดื่มแอลกอฮอล์จัด และเชื้อไวรัส HPV จากการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (Oral sex) เนื่องจากบางคนคิดว่าปลอดภัยไม่ทำให้ท้อง แต่ทำให้มีคววามพอใจในเพศรสมากขึ้น อย่างไรก็ตามออรัลเซ็กซ์อาจไม่ปลอดภัย มีโอกาสติดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้เช่นเดียวกัน ได้แก่ HIV, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส เริม พยาธิ ไวรัสตับอักเสบเอ และเชื้อไวรัส HPV ปัจจุบันพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งคอหอยส่วนบนหลังช่องปากจากไวรัส HPV (HPV-related Oropharyngeal Cancer) ในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร สูงกว่าผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างมาก และมักพบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิง สำหรับในประเทศไทยและประเทศในเอเชียแม้อุบัติการณ์น้อยกว่าประเทศทางยุโรปหรืออเมริกา แต่จากการศึกษาแบบ Meta-Analysis ที่เก็บข้อมูลจากหลายประเทศในเอเชีย พบความชุกของมะเร็งช่องปากและลำคอประมาณ 37% และพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีการศึกษาที่ทำเพื่อดูแนวโน้มในอีก 7 ปีข้างหน้าที่ปี 2030 ประเทศไทยจะมีความชุกของมะเร็งช่องปากและลำคอจากเชื้อไวรัส HPV สูงถึง 50% ซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยง เช่น การเปลี่ยนคู่นอน รสนิยมทางเพศ เป็นต้น
นอกจากโรคมะเร็งจาก HPV จะพบได้บ่อยแล้ว โรคมะเร็งนี้จะไม่แสดงอาการในตอนแรก จะแสดงอาการเมื่อเป็นหนักแล้ว ประมาณ 10-15 ปีให้หลังจากการรับเชื้อ ดังนั้นคนไข้หลายคนจึงชะล่าใจ ทำให้ความฝัน ความสุข หรือเป้าหมายบางอย่างที่วางไว้ต้องหยุดชะงักลงจากโรคนี้ และต้องเผชิญกับขั้นตอนของการรักษา ทั้งความทรมานของตัวโรค ความเครียดที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวเอง และคนรอบข้าง รวมถึงความเครียดเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นการป้องกันไว้ก่อนจึงสำคัญอย่างมาก
การติดเชื้อ HPV เป็นเหมือนภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการใด ๆ
การติดเชื้อ HPV เป็นเหมือนภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการใด ๆ กว่า 10 ปี ซึ่งจะแสดงอาการเมื่อลุกลามแล้ว ทำให้ผู้มีเชื้อเอชพีวีไม่รู้ว่าได้รับเชื้อมาและอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดเชื้อ HPV ไปได้ แต่มีบางส่วนที่ไม่สามารถกำจัดได้เชื้อ HPV ก็จะสามารถพัฒนากลายเป็นโรคหูดหงอนไก่ หรือ มะเร็งต่างๆ ได้ในอนาคต ซึ่งเชื้อ HPV นอกจากจะเป็นสาเหตุหลักที่สามารถพัฒนาให้เกิดมะเร็งปากมดลูกแล้ว ยังมีมะเร็งอีกหลายชนิดที่การติดเชื้อ HPV เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด อาทิ มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกกลุ่มความหลากหลาย ดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ทั้งการใส่ถุงยางอนามัยและไม่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน ร่วมกับการป้องกันด้วยการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีน HPV ให้มีภูมิต้านทานเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความปลอดภัยให้ทุกชีวิตไม่สะดุดพบเจอความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายถึงวันป้องกันหยุดเอชพีวีเพื่อให้ทุกความหลากหลายสามารถมีสุขภาพที่ดีที่สุดในแบบฉบับของตนเอง
ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี
ไม่ว่าคุณจะมีความรักในรูปแบบไหน ทุกกลุ่มเพศหลากหลายหรือใครก็ตามที่ยังมีเพศสัมพันธ์อยู่ก็มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อเอชพีวีได้ไม่แตกต่างกัน จึงอยากให้มาร่วมแสดงพลังหยุดเชื้อเอชพีวีในแคมเปญนี้ด้วยกัน ร่วมสร้างความปลอดภัยห่างไกลมะเร็งที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี โดยเราสามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันได้ ดังนี้
การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย : หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยง ไม่มีคู่นอนหลายคน สวมถุงยางอนามัย เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ชัดเจนที่สุด
ตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ : ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกรวมทั้งการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV DNA) ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองที่สามารถระบุได้ถึงการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ไหนได้ถึง 14 สายพันธุ์ โดยรวมสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่มีความรุนแรงสูง และสายพันธุ์ที่พบบ่อยในประเทศไทย คือ 16, 51, 52 ที่จะพัฒนารอยโรคก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูกรวมอยู่ด้วย
ฉีดวัคซีน HPV เพื่อให้มีภูมิต้านทาน : การฉีดวัคซีน HPV ช่วยป้องกันการเป็นมะเร็งทุกช่องทางไม่ว่าจะมีเพศวิถีแบบไหน โดยทุกคนสามารถติดเชื้อ HPV ได้ไม่ต่างกัน ดังนั้น จึงควรฉีดวัคซีน HPV เพื่อให้มีภูมิต้านทานป้องกันมะเร็งต่างๆจากเชื้อไวรัส HPV ที่อาจจะเกิดขึ้นและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย
เพศหลากหลายฉีดวัคซีน HPV ได้ไหม ?
“การมีเพศสัมพันธ์คือสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อ HPVทุกเพศไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย และทุกกลุ่มเพศหลากหลายหรือใครก็ตามที่ยังมีเพศสัมพันธ์อยู่ ก็มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ HPV ได้ไม่แตกต่างกัน ดังนั้น การฉีดวัคซีน HPV เพิ่มภูมิต้านทานจึงมีประโยชน์สำหรับทุกเพศทุกวัย และยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงป้องกันมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอด้วย สำหรับการรณรงค์ฉีดวัคซีน HPV ในประเทศไทยได้มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยแพทย์แนะนำให้เริ่มฉีดได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไปทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยผู้ปกครองก็เริ่มมีการพาลูกผู้ชายมาฉีด แต่ก็ยังไม่นิยมเท่าผู้หญิง เพราะจุดเริ่มต้นในประเทศไทยของการณรงค์ให้ฉีดวัคซีนคือต้องการลดปัญหามะเร็งปากมดลูก เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา หากไม่ป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน HPV รวมทั้งมีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างการมีคู่นอนหลายคน ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ในกลุ่ม Transmen ผู้ชายข้ามเพศ บางคนที่ใช้ Hormone อย่างเดียว ไม่ได้ผ่าตัด จะยังมีมดลูกอยู่ก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้ และเป็นมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน และมีโอกาสเป็นมะเร็งช่องคลอดได้หากยังมีเพศสัมพันธ์แบบเพศหญิงทั่วไป ในกลุ่ม Transwomen สตรีข้ามเพศ สามารถติด HPV ได้เช่นกันและก็เป็นสาเหตุของมะเร็งทวารหนักได้ โดยกลุ่มที่ผ่าตัดแปลงเพศที่มีช่องคลอดใหม่แล้ว พบว่า HPV เป็นสาเหตุของมะเร็งที่ช่องคลอดใหม่ได้เหมือนกัน ดังนั้น Transwomen ที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้วควรตรวจภายในทุกปี ร่วมกับการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน HPV ให้มีภูมิต้านทานก็มีประโยชน์ลดเสี่ยงการโรคร้ายในอนาคต”
ปัจจุบันวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV มีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ทั้งวัคซีนเอชพีวีชนิด 2 สายพันธุ์ (16, 18 ) 4 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18) และวัคซีนเอชพีวีชนิด 9 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58) สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป โดยเด็กช่วงอายุ 9-15 ปี จะเป็นช่วงวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดเนื่องจากกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงและยังไม่มีเพศสัมพันธ์ โดยจะรับวัคซีน 2 เข็ม ในเดือนที่ 0 และ 6 สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป รับวัคซีนทั้งหมด 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, 1-2 และ 6
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย พร้อมเหล่าคนดัง บุ๋น – เปรม กร-Proxie ได๋-ไดอาน่า ร่วมส่งความห่วงใยพร้อมชวนร่วมขบวนแสดงพลังปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนตื่นตัว มีความรู้มีความเข้าใจ ก้าวทันโรคและป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี ลดเสี่ยงมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเอชพีวี ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ตรวจคัดกรองสม่ำเสมอ และฉีดวัคซีนเอชพีวีให้มีภูมิต้านทาน สร้างความปลอดภัยในการใช้ชีวิตให้ทุกความหลากหลายภายใต้พื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนสามารถมีสุขภาพที่ดีที่สุดในแบบฉบับของตนเอง
#HPVPridemonth #NoHPVNoLimit
#ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี
#กรPROXIENoHPVNoLimit
#บุ๋นเปรมNoHPVNoLimit
#CRAChulabhornChannel
#โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
#ทุกชีวิตของคนไข้คือหัวใจของเรา
#ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
#เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต
ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมสร้างความปลอดภัยห่างไกลมะเร็งที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวีด้วยการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีนป้องกัน ฉีดวัคซีนเอชพีวี 9 สายพันธุ์ ราคา 6,125 บาทต่อเข็ม วัคซีนเอชพีวี 4 สายพันธุ์ ราคา 2,494 บาทต่อเข็ม ตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ราคา 840 บาท ตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวี ราคา 1,840 บาท และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกร่วมกับตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ราคา 2,440 บาท อัตราดังกล่าวไม่รวมค่าบริการโรงพยาบาล และค่าธรรมเนียมแพทย์นอกเวลา โดยผู้ที่สนใจสามารถนัดหมายเข้ารับบริการได้ที่ ศูนย์สุขภาพสตรี ชั้น 9 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-20.00 น. และเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-16.00 น.
Add LINE นัดหมายผ่านทาง LINE Official @chulabhornhospital
กดเมนู “ศูนย์การรักษา” เลือกศูนย์ “สุขภาพสตรี” และกดติดต่อนัดหมายการตรวจคัดกรองและการฉีดวัคซีนป้องกันเอชพีวี มาร่วมขบวนหยุดเชื้อเอชพีวีไปด้วยกัน No HPV No Limit #ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี