“ การที่คนเรามีสายตาปกติ เป็นผลจากการที่แสงผ่านกระจกตา (Cornea) และเลนส์แก้วตา (Crystalline Lens) โฟกัสลงพอดีที่จุดรับภาพจอประสาทตา (Fovea) ทำให้เรามองเห็นภาพคมชัด แต่หากกำลังการรวมแสงของตาไม่พอดีกับความยาวลูกตา เป็นผลให้จุดโฟกัสของตาตกไม่พอดีที่จุดรับภาพจอประสาทตาเรียกว่าภาวะสายตาผิดปกติ(Refractive errors) ”
ภาวะสายตาผิดปกติ (Refractive Errors)
- สายตาสั้น : แสงโฟกัสหน้าจุดรับภาพ ทำให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ชัด แต่มองไกลไม่ชัด
- สายตายาว : แสงโฟกัสหลังจุดรับภาพ ทำให้มองไม่ชัดทั้งใกล้และไกล
- สายตาเอียง : แสงทั้งสองระนาบไม่โฟกัสที่จุดเดียวกัน ทำให้ภาพที่เห็นไม่ชัดในบางแกน
- สายตายาวในผู้สูงอายุ : ไม่ถือเป็นภาวะสายตาผิดปกติ แต่เป็นภาวะความเสี่ยงของระบบการปรับโฟกัสเพื่อมองใกล้ พบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยมีค่าสายตาปกติ แต่มองใกล้ไม่ชัด
สาเหตุของสายตาผิดปกติ
มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรง เช่น พันธุกรรม การใช้สายตาเพ่งนาน ๆ
การรักษาภาวะสายตาผิดปกติ
- รักษาแบบไม่ผ่าตัด เช่น การวัดสายตาตัดแว่น การใส่คอนแทคเลนส์
- การรักษาแบบผ่าตัด แบ่งเป็นการรักษาที่กระจกตา เช่น การทำ LASIK, ReLEx SMILE และการรักษาที่เลนส์ตา เช่น การผ่าตัดใส่เลนส์เสริม การผ่าตัดต้อกระจก ซึ่งในปัจจุบันมีเลนส์หลายชนิดให้เลือกตามความจำเป็นของผู้ป่วย เช่น เลนส์มองได้หลายระยะ เป็นต้น
แนวทางการรักษา ภาวะสายตาผิดปกติ
สายตาผิดปกติ โดยปกติจะแบ่งการรักษาเป็นการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและแบบที่ใช้การผ่าตัด
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด คือ การใส่แว่น การใส่คอนแทคเลนส์
การรักษาแบบผ่าตัด มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่แก้ไขตัวกระจกตา และกลุ่มที่แก้ไขที่เลนส์ตา โดยหลักแพทย์จะแก้ไขที่กระจกตาก่อน เนื่องจากเป็นการผ่าตัดภายนอกลูกตา ที่เรารู้จักกันดีคือกลุ่มการทำเลเซอร์ แก้ไขสายตา เช่น เลสิก พีอาร์เค
ส่วนการรักษาแก้ไขที่ตัวเลนส์ตา จะมีการใส่เล่นส์เสริมเข้าไปในตาเพื่อแก้ไขสายตา เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าสายตาสั้นเยอะ ๆ ไม่สามารถทำเลสิก พีอาร์เค ได้
การเกิดสายตาผิดปกติมีหลายปัจจัย รวมถึงพฤติกรรมบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยง เช่น การใช้สายตาในระยะใกล้นาน ๆ โดยเฉพาะในเด็กที่มองหรือเล่นแท็บเล็ตมาก อาจกระตุ้นให้เกิดสายตาสั้นได้ ดังนั้นแนะนำให้ผู้ปกครองควรระวังในจุดนี้ ทั้งนี้ ผู้มีอาการควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อประเมินอาการและการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน