ความรู้ด้านการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care)

ความรู้ด้านการดูแลแบบประคับประคอง

(Palliative Care)

การดูแลแบบประคับประคองคืออะไร?

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้คำจำกัดความของการดูแลรักษาแบบประคับประคองว่าเป็นวิธีให้การดูแลที่เป็นองค์รวม โดยมุ่งเน้นความสำคัญกับทุกมิติของชีวิตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ สำหรับผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่คุกคามต่อชีวิต รวมถึงผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
ผู้ดูแล และครอบครัว

การดูแลแบบประคับประคองสามารถทำได้ตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรค หรือมีภาวะการเจ็บป่วยที่รักษาให้หายขาดได้ยาก โดยให้การดูแลควบคู่ไปกับการรักษาหลัก ซึ่งไม่ใช่การหยุดรักษาหรือทอดทิ้งผู้ป่วยแต่เป็นการประคองไปด้วยกัน โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวร่วมด้วยเสมอ ซึ่งกระบวนการดูแลจะครอบคลุมการดูแลผู้ป่วย ญาติผู้ดูแล และครอบครัว ทั้งในระยะที่ผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่ ไปจนถึงการดูแลหลังการสูญเสียด้วย

เป้าหมายของการดูแลแบบประคับประคอง

  • เพื่อลดความทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วย
  • ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ป่วย ผู้ดูแล และครอบครัวสามารถปรับตัวและเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
  • ลดหรือยกเลิกการรักษาที่เป็นไปเพื่อยื้อชีวิต ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ใดๆ กับผู้ป่วยแล้ว
  • เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีจนวาระสุดท้ายของชีวิต

กระบวนการดูแลแบบประคับประคอง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
ตามมาตรฐานในระดับสากลเพื่อการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นเลิศ

ESMO Designated Center Of Integrated
Oncology & Palliative Care

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีการให้บริการด้านการดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายโดยทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ โดยมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่หลักในการให้การบริการคือ หน่วยพยาบาลคลินิกการแพทย์ผสมผสาน ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา กระบวนการดูแลมุ่งเน้นการบรรเทาความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ เพื่อคงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัว

กระบวนการดูแลของทีมให้การดูแลแบบประคับประคอง ประกอบด้วย

  • การประเมินปัญหาของผู้ป่วยและครอบครัวอย่างเป็นองค์รวม
  • การวางแผนการดูแลโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ
  • การดูแลตามปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีการบูรณาการการแพทย์ผสมผสาน(Integrative Oncology) ซึ่งเป็นการกิจกรรมเสริมที่ให้ควบคู่ไปกับการรักษาหลักมุ่งเน้นการดูแลและบำบัดด้านจิตใจและอารมณ์ รวมถึงการช่วยเหลือสนับสนุนด้านความรู้ คำแนะนำ การสอน การเสริมพลัง และเป็นที่ปรึกษาในการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถปรับตัวและเผชิญปัญหาได้อย่างเหมาะสม
  • การติดตามประเมินผลเป็นระยะ และให้การดูแลต่อเนื่องตั้งแต่ที่โรงพยาบาลจนกระทั่งเมื่อผู้ป่วยกลับไปอยู่ที่บ้าน รวมถึงให้การดูแลความโศกเศร้าของญาติภายหลังการสูญเสีย

สำหรับประเทศไทยได้มีการรณรงค์และส่งเสริมให้ผู้ป่วย หรือผู้ที่มีสุขภาพดีที่สนใจในเรื่องการวางแผนดูแลตนเองล่วงหน้า สามารถทำได้โดยมีกฎหมายรองรับ คือ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ระบุว่า “บุคคลมีสิทธิในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อการยื้อชีวิตในระยะสุดท้าย” โดยมีสาระสำคัญ คือการเคารพสิทธิของผู้ป่วย และคุ้มครองบุคลากรสุขภาพที่กระทำตามเจตนาปฏิเสธการรักษาต่าง ๆ ในวาระสุดท้ายของชีวิตเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนซึ่งในปัจจุบันมีรูปแบบของการเขียนหนังสือแสดงเจตนาฯ หลายรูปแบบและหลายช่องทางที่สามารถเลือกให้สอดคล้องกับความต้องการได้ เช่น สมุดเบาใจ Living Will ฉบับออนไลน์ หรือแบบฟอร์มเป็นต้น ซึ่งสิ่งสำคัญคือเมื่อมีการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ไว้แล้วควรมีการสื่อสารหรือบอกกล่าวบุคคลใกล้ชิด และสำเนาเอกสารไว้ให้กับโรงพยาบาลที่รับบริการอยู่ เพื่อที่เมื่อวาระสุดท้ายมาถึงบุคลากรทางสุขภาพจะได้ทำตามเจตจำนงค์ที่ได้ให้ไว้

สำหรับผู้ที่สนใจการวางแผนตนเองล่วงหน้าหรือการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อการยื้อชีวิตในระยะสุดท้าย สามารถติดต่อขอคำแนะนำได้ที่

หน่วยพยาบาลคลินิกการแพทย์ผสมผสาน ชั้น 14
อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์
หรือสถานบริการพยาบาลใกล้บ้านของท่านได้

ความภาคภูมิใจของทีมให้การดูแลแบบประคับประคอง

ได้รับการรับรองจาก European Society Medical Oncology ในปี 2564 ว่าเป็นศูนย์มะเร็งที่มีระบบการบริการด้าน Palliative care และ Integrative oncology สำหรับผู้ป่วยมะเร็งอย่างครบวงจร ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่

  • การพัฒนาด้านงานวิจัย (Research)
  • การเรียนการสอน (Clinical education)
  • คุณภาพการบริการ (Service quality)